WACC คืออะไร?
หลายครั้งเราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าโครงการของบริษัทหนึ่ง ๆ น่าลงทุนหรือไม่? จะมีความคุ้มค่าเท่ากับผลคาดหวังของเราจริงไหม? นักลงทุนหลายคนอาจจะมองแค่ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ แต่นั่นอาจไม่เพียงพอที่จะตัดสินความคุ้มค่าของการลงทุนได้ เราจำเป็นต้องพิจารณาถึงต้นทุนของเงินทุนที่ใช้ในการลงทุนด้วยเช่นกัน ซึ่งการพิจารณาค่า WACC หรือ Weighted Average Cost of Capital ก็เป็นตัวช่วยในการประเมินความน่าสนใจของการลงทุนได้ เพราะมันจะบอกได้ว่าการหา “เงินทุน” มาดำเนินกิจการนั้นมีต้นทุนมากน้อยแค่ไหน
บทความนี้จะทำให้คุณได้รู้จักกับค่า WACC ให้มากขึ้น ทั้ง WACC คืออะไร, WACC ประกอบด้วยอะไรบ้าง, สูตรการคำนวณ WACC และ ค่า WACC เท่าไรถึงจะดี ตามมาดูกันเลย
WACC คืออะไร?
WACC ย่อมาจาก Weighted Average Cost of Capital หมายถึง ต้นทุนเฉลี่ยของเงินทุนที่กิจการนั้น ๆ ใช้ในการดำเนินงาน หรือ อาจกล่าวง่าย ๆ ว่าคือต้นทุนเฉลี่ยที่กิจการต้องใช้เพื่อให้ได้ “เงินทุน” สำหรับการดำเนินกิจการนั่นเอง โดยนักลงทุนมักใช้ค่า WACC ในการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนว่ามีความน่าสนใจหรือไม่
WACC ประกอบด้วยอะไรบ้าง?
ค่า WACC ประกอบด้วยต้นทุนของเงินทุน 2 ส่วนหลักด้วยกัน คือ
• ต้นทุนของเงินทุนจากการกู้ยืม (Cost of Debt)
คือ ค่าใช้จ่ายที่บริษัทต้องจ่ายเพื่อกู้ยืมเงินจาก ธนาคารหรือสถาบันการเงิน หมายถึง อัตราดอกเบี้ยจากหนี้ที่บริษัทยืมจากธนาคารหรือสถาบันการเงินเหล่านั้น
• ต้นทุนของเงินทุนจากเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น (Cost of Equity)
เช่น อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจากเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น
สูตรการคำนวณ WACC
ตามปกติแล้วหากเงินทุนทั้งหมดของบริษัทมาจากการกู้ยืมหรือการลงทุนของผู้ถือหุ้นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้นทุนของเงินทุน (Cost of Capital) ก็จะสามารถเป็นอัตราของต้นทุนนั้น ๆ ได้ทันที แต่เมื่อเงินทุนที่ได้มานั้นมาจากทั้งสองแหล่ง ซึ่งได้แก่การกู้ยืมและผู้ถือหุ้น จึงจำเป็นต้องคำนวณหาต้นทุนของเงินทุนแบบถัวเฉลี่ยกัน หรือที่เรียกว่า การหา WACC นั่นเอง ซึ่งมีสูตรดังนี้
WACC=D/V(R_d )(1-T_c)+E/V(R_e)
ตัวแปร | ความหมาย |
D/V | สัดส่วนของหนี้ เทียบกับเงินทุนทั้งหมด |
R_d | ต้นทุนของหนี้ หรือ อัตราดอกเบี้ย |
T_c | อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล |
E/V | สัดส่วนของเงินจากเจ้าของหรือนักลงทุน เทียบกับเงินทุนทั้งหมด |
R_e | ต้นทุนของเงินจากเจ้าของหรือนักลงทุน คือ อัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง |
ตัวอย่างการคำนวณด้วยสูตร WACC
บริษัท XYZ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีโครงสร้างเงินทุนดังนี้
หนี้สิน 100 ล้านบาท (สัดส่วน 60%) ส่วนของผู้ถือหุ้น 160 ล้านบาท (สัดส่วน 40%) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของบริษัท XYZ อยู่ที่ 7% ต่อปี อัตราภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 20% อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังคือ 15% บริษัท XYZ ต้องการหาค่า WACC เพื่อใช้ในการประเมินความคุ้มค่าของโครงการลงทุนใหม่
วิธีทำ
- หาค่า WACC จากสูตร WACC=D/V(R_d )(1-T_c)+E/V(R_e)
จากโจทย์ จะได้
D/V | 100/260 |
R_d | 7% à 0.07 |
T_c | 20% à 0.2 |
E/V | 160/260 |
R_e | 15% à 0.15 |
- แทนค่าลงในสูตร จะได้
WACC=D/V(R_d )(1-T_c)+E/V(R_e)
WACC=(100/260)(0.07)(1-0.2)+(160/260)(0.15)
WACC=0.11384615384≈0.1138
WACC≈11.38%
ดังนั้นค่า WACC จะได้ประมาณ 11.38%
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างค่า WACC กับ อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังของนักลงทุน พบว่าอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังมีค่ามากกว่าค่า WACC (15% > 11.38%) ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นการลงทุนที่น่าสนใจนั่นเอง
ค่า WACC เท่าไรถึงจะดี?
ค่า WACC ยิ่งต่ำถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะนั่นหมายความว่ากิจการนั้น ๆ มีต้นทุนในการจัดหาเงินทุนที่ต่ำ
แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมที่บริษัทดำเนินธุรกิจ, ความเสี่ยงของโครงการลงทุนใหม่, นโยบายของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน และอื่น ๆ ดังนั้นควรพิจารณาอัตราผลตอบแทนควบคู่ไปกับค่า WACC รวมถึงตัวชี้วัดทางการเงินอื่น ๆ ร่วมด้วย
อัตราผลตอบแทน > WACC | คุ้มค่าที่จะลงทุน |
อัตราผลตอบแทน < WACC | ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน |
โครงสร้างทางการเงินที่ดีที่สุดหรือโครงสร้างเป้าหมาย
เป็นการจัดสัดส่วนการหาเงินทุนระยะยาวที่ดีที่สุด โดยจะทำให้เกิดข้อดีสูงสุดกับธุรกิจ 2 ประการ คือ
• ทำให้ธุรกิจมีค่า WACC ต่ำที่สุด (Minimizing Weighted Average Cost of Capital)
• ทำให้ธุรกิจมีมูลค่าตามราคาตลาดของหุ้นสามัญสูงที่สุด (Maximizing Market Value of Common Stock)
โดยการจะทำให้ได้ตามเป้าหมายธุรกิจมีหลากหลายทางเลือกในการจัดหาเงินทุน ซึ่งแต่ละวิธีก็จะส่งผลให้ค่า WACC แตกต่างกันด้วย เช่น
• การใช้เงินทุนจากเจ้าของเพียงแหล่งเดียว (All Equity Financing) จะทำให้มีค่า WACC สูงสุด เนื่องจากเจ้าของจะได้รับความเสี่ยงมากที่สุด แต่ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากตามไปด้วย
• การใช้เงินทุนจากแหล่งเงินกู้ วิธีนี้จะทำให้ค่า WACC ลดลงระดับหนึ่ง ต้นทุนกู้ที่ต่ำกว่า อีกทั้งได้ประโยชน์ทางภาษีที่ดอกเบี้ยเงินกู้สามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่ายที่หักภาษีได้
ข้อควรระวังในการใช้ WACC
1. ค่า WACC ไม่ได้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ค่า WACC ไม่ได้คำนวณเกี่ยวกับปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ระดับหนี้ อัตราการลงทุนของผู้ถือหุ้น และอื่น ๆ
2. ค่า WACC ไม่คำนึงถึงความเสี่ยงของการลงทุน
การลงทุนทุกประเภทย่อมมีความเสี่ยงเสมอ แต่ WACC ไม่คำนึงถึงสิ่งนี้ ทำให้อาจเกิดความเสี่ยงสูงมาก หากเลือกลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ ด้วยพิจารณาเพียงค่า WACC อย่างเดียว
3. การคำนวณ WACC มีความซับซ้อน
การหาค่า WACC ต้องใช้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ต้นทุนเงินทุนของผู้ถือหุ้น และต้นทุนเงินทุนจากเจ้าหนี้ ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการคิดคำนวณได้
4. ค่า WACC เป็นเพียงค่าประมาณ
ค่า WACC นั้นไม่สามารถคำนวณได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของบริษัท เช่น การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย การเปลี่ยนแปลงของความเสี่ยงของบริษัท เป็นต้น ดังนั้น ค่า WACC จึงเป็นเพียงค่าประมาณเท่านั้น ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนได้เสมอ
เทคนิคในการใช้ WACC ให้มีประสิทธิภาพ
1. ควรใช้ WACC ร่วมกับดัชนีทางการเงินอื่น ๆ
เช่น มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) และอัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) เพื่อให้สามารถพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการลงทุนได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
2. อัปเดตการคำนวณ WACC เป็นประจำ
เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ระดับหนี้ของบริษัท และสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะทำให้สามารถติดตามความน่าสนใจและคุ้มค่าจากการลงทุนในบริษัทนั้น ๆ ถ้าหากพบว่าปัจจุบันค่า WACC ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวังแล้ว จะได้ย้ายการลงทุนได้อย่างทันท่วงที
สรุป
ตอนนี้เราได้ทำความรู้จักกันแล้วว่า WACC คืออะไร, ประกอบด้วยอะไรบ้าง, สูตรการคำนวณ WACC และ ค่า WACC เท่าไรถึงจะดี จะเห็นได้ว่า WACC เป็นตัวชี้วัดทางการเงินที่สำคัญสำหรับนักลงทุน ซึ่งสามารถใช้ในการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุน การประเมินมูลค่ากิจการ และการตัดสินใจเรื่องโครงสร้างเงินทุนได้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรใช้การดูค่า WACC อย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงข้อจำกัดของ WACC และปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของบริษัทร่วมด้วยเพื่อให้ได้การตัดสินใจลงทุนที่ดีที่สุด
บทความที่คุณอาจจะสนใจด้วย |
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน