งบกำไรขาดทุน หรือ Profit and Loss Statement(p&l) คืออะไร
งบกำไรขาดทุนเป็นงบการเงิน ที่นักลงทุนและเจ้าของกิจการต่างให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำกำไรของกิจการได้ นอกจากนั้นงบกำไรขาดทุนยังเป็นสิ่งที่ช่วยกำหนดทิศทางการวางและพัฒนากลยุทธ์ด้านการดำเนินกิจการให้มีผลกำไรที่น่าพึงพอใจต่อ ๆ ไปได้อีกด้วย ในบทความนี้จะขอพาทุกท่านไปรู้จักว่า งบกำไรขาดทุน (Profit and Loss Statement) คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร รวมถึงวิธีอ่านค่าต่าง ๆ ในงบการเงินประเภทนี้ด้วย
งบกำไรขาดทุน คืออะไร?
งบกำไรขาดทุน หรือ Profit and Loss Statement(p&l) คือ งบการเงินที่แสดงผลการดำเนินงานของกิจการ โดยแสดงข้อมูลเกี่ยวกับรายได้, ค่าใช้จ่าย, กำไร หรือ ยอดขาดทุนในแต่ละรอบบัญชี ซึ่งงบกำไรขาดทุนจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจว่ากิจการมีกำไรหรือไม่ กำไรมาจากไหน หรือมีค่าใช้จ่ายส่วนใดที่สามารถปรับลดลงเพื่อให้กำไรของกิจการเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งงบกำไรขาดทุนจะนำไปสู่การพัฒนากลยุทธ์ด้านธุรกิจให้แข็งแรงและตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงของตลาดมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถช่วยคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคตได้อีกด้วย
▲ สูตรคำนวณงบกำไรขาดทุน
การคำนวณในการทำงบกำไรขาดทุน มีหลักการคือ
รายได้รวม - ค่าใช้จ่ายรวม = กำไร (ขาดทุน)
รายได้รวม (Total Revenue) หมายถึง เงินสดหรือรายการอื่น ๆ ที่กิจการได้รับจากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการทั้งหมด
ค่าใช้จ่ายรวม (Total Expenses) หมายถึง เงินสดหรือรายการอื่น ๆ ที่กิจการใช้จ่ายไปเพื่อดำเนินกิจการ เช่น ค่าเช่าที่ดิน, ค่าการตลาด, ค่าโฆษณา เป็นต้น
กำไรหรือขาดทุน (Profit or Loss) หมายถึง ผลต่างระหว่างรายได้ทั้งหมดและค่าใช้จ่าย หากค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้จะเรียกว่าขาดทุน แต่ถ้าค่าใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้จะเรียกว่ากำไร
▲ ตัวอย่างการคำนวณงบกำไรขาดทุน (Profit and Loss Statement)
รายการบัญชี |
+ รายได้จากการขายและบริการ (Sale) |
- ต้นทุนการขาย (Cost of goods sold) |
กำไรขั้นต้น (Gross Profit) |
+ รายได้อื่น ๆ (Other Revenue) |
- ค่าใช้จ่ายในการขาย (Selling Expenses) |
- ค่าใช้จ่ายในการบริหาร (Administrative Expenses) |
กำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายทางการเงินและภาษีเงินได้ (EBIT) |
- ค่าใช้จ่ายทางการเงิน (Financial Cost) |
กำไรก่อนหักภาษีเงินได้ (EBT) |
- ค่าใช้จ่ายภาษี (Tax) |
กำไรสุทธิ (Net Income) |
รายได้จากการขายและบริการ (Sale) คือ รายได้หลักของกิจการ มาจากการขายสินค้าหรือบริการให้แก่ลูกค้า
รายได้อื่น ๆ (Other Revenue) คือ รายได้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการ เช่น ดอกเบี้ยจากเงินทุนในธนาคาร, รายได้จากการเงินปันผล, รายได้จากการให้เช่า เป็นต้น
ต้นทุนการขาย (Cost of goods sold) คือ ต้นทุนของสินค้าหรือบริการ หมายถึง ต้นทุนของวัตถุดิบ, ค่าแรงงานและค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้าหรือบริการนั้น ๆ
ค่าใช้จ่ายในการขาย (Selling Expenses) คือ ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการขายสินค้าหรือบริการ เช่น ค่าโฆษณา, ค่าการตลาด, ค่าขนส่ง, ค่าคอมมิชชัน เป็นต้น
ค่าใช้จ่ายในการบริหาร (Administrative Expenses) คือ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการ เช่น ค่าฝึกอบรม, ค่าเช่าสำนักงาน, เงินเดือนฝ่ายบริหาร เป็นต้น
กำไรขั้นต้น (Gross Profit) คือ กำไรที่ได้จากยอดขายลบด้วยต้นทุนขาย เป็นกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
กำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายทางการเงินและภาษีเงินได้ (EBIT) คือ กำไรที่เกิดจากการดำเนินกิจการ
กำไรก่อนหักภาษีเงินได้ (EBT) คือ กำไรที่เกิดจากการดำเนินกิจการและหักค่าใช้จ่ายทางการเงินแล้ว
กำไรสุทธิ (Net Income) คือ รายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว
กำไรแต่ละขั้นบอกอะไรได้บ้าง?
หลังจากที่นำรายได้ของกิจการหักกับค่าใช้จ่ายแต่ละส่วนจะได้กำไรในแต่ละขั้นออกมา ซึ่งแบ่งเป็น
กำไรขั้นต้น (Gross Profit)
คือ [รายได้ – ต้นทุนขาย] ช่วยบอกว่ากิจการนี้สามารถตั้งราคาสินค้าสูงกว่าต้นทุนได้มากน้อยแค่ไหน
กำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit)
คือ [กำไรขั้นต้น - ค่าใช้จ่ายทั่วไป] ช่วยบอกว่าการดำเนินกิจการเป็นไปในทิศทางไหน มีผลกำไรเกิดขึ้นหรือไม่ ช่วยให้เห็นภาพรวมของธุรกิจได้ชัดขึ้น
กำไรสุทธิ (Net Profit)
คือ [รายได้ทั้งหมด – ค่าใช้จ่ายทั้งหมด] ช่วยบอกว่าในช่วงระยะเวลาที่จัดทำงบกำไรขาดทุน กิจการนี้สามารถสร้างกำไรหลังจากหักทุกยอดค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเท่าไร
ประเภทของงบกำไรขาดทุน (p&l)
แบบฟอร์ม งบกำไรขาดทุนสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ งบกำไรขาดทุนแบบรายงาน และ งบกำไรขาดทุนแบบบัญชี ซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างกันตามฟอร์มดังนี้
1. งบกำไรขาดทุนแบบรายงาน (Report Form)
การจัดทำงบกำไรขาดทุนรูปแบบนี้จะแบ่งรายงานเป็น 3 ส่วน ได้แก่ รายได้, รายจ่าย และกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ โดยมีลักษณะการทำบัญชีดังนี้
ส่วนหัวเขียน 3 บรรทัดที่หัวกระดาษ บริเวณกึ่งกลางของหน้ากระดาษ ประกอบด้วย
บรรทัดที่1: ชื่อกิจการ
บรรทัดที่2: คำว่า “งบกำไรขาดทุน”
บรรทัดที่3: รอบระยะเวลาที่ทำงบกำไรขาดทุนและวันสิ้นสุด
เขียนคำว่า “รายได้” และนำยอดรายได้มาแสดงในหมวดรายได้นี้ หากมีมากกว่า 1 รายการ ให้ทำยอดรายได้รวมด้วย
เขียนคำว่า “ค่าใช้จ่าย” และนำยอดค่าใช้จ่ายมาแสดงในหมวดค่าใช้จ่ายนี้ หากมีมากกว่า 1 รายการ ให้ทำยอดค่าใช้จ่ายรวมด้วย
หาผลต่างระหว่างยอดรายได้รวมและยอดค่าใช้จ่ายรวม หากรายได้รวม > ค่าใช้จ่ายรวม ถือว่ามียอด “กำไรสุทธิ” แต่ถ้ารายได้รวม < ค่าใช้จ่ายรวม ถือว่าเป็นยอด “ขาดทุนสุทธิ”
▲ ตัวอย่าง งบกำไรขาดทุนแบบรายงาน
ชื่อกิจการ … งบกำไรขาดทุน สำหรับระยะเวลา 1 ปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 รายได้: รายได้ค่าบริการ xxx รายได้เบ็ดเตล็ด xxx xxxx ค่าใช้จ่าย: ค่าเช่าสำนักงาน xxx ค่าพาหนะ xxx ค่ารับรอง xxx ค่าสาธารณูปโภค xxx เงินเดือน xxx xxx กำไรสุทธิ xxx |
▲ ข้อดีของงบกำไรขาดทุนแบบรายงาน
เข้าใจง่าย
งบกำไรขาดทุนแบบรายงานจะแสดงผลการดำเนินงานของกิจการในรูปแบบของรายงาน โดยเรียงลำดับจากรายได้ไปยังกำไรสุทธิ ทำให้เข้าใจง่ายและสะดวกต่อการอ่าน
เน้นให้เห็นภาพรวม
งบกำไรขาดทุนแบบรายงานจะเน้นให้เห็นภาพรวมของผลการดำเนินงานของกิจการ โดยแสดงตัวเลขสำคัญต่าง ๆ เช่น รายได้ ค่าใช้จ่าย กำไรสุทธิ เป็นต้น
สามารถนำไปใช้วิเคราะห์ผลการดำเนินงานได้
งบกำไรขาดทุนแบบรายงานสามารถนำไปใช้วิเคราะห์ผลการดำเนินงานของกิจการได้เช่นเดียวกับงบกำไรขาดทุนแบบบัญชี
2. งบกำไรขาดทุนแบบบัญชี (Account Form)
การจัดทำงบกำไรขาดทุนรูปแบบนี้จะแสดงรายการเป็นรูปตัว T ซึ่งแต่ละส่วนเป็นดังนี้
ส่วนหัวเขียน 3 บรรทัดที่หัวกระดาษ บริเวณกึ่งกลางหน้ากระดาษ ประกอบด้วย
บรรทัดที่1: ชื่อกิจการ
บรรทัดที่2: คำว่า “งบกำไรขาดทุน”
บรรทัดที่3: รอบระยะเวลาที่ทำงบกำไรขาดทุนและวันสิ้นสุด
แบ่งหน้ากระดาษเป็น 2 ด้าน
จัดบัญชีหมวดค่าใช้จ่ายไว้ทางซ้าย และหมวดรายได้ไว้ทางขวา
หาผลต่างระหว่างรายได้กับค่าใช้จ่าย แล้วทำยอดรวมของทั้งด้านซ้ายและขวาเท่ากัน
▲ ตัวอย่าง งบกำไรขาดทุนแบบบัญชี
ชื่อกิจการ …
งบกำไรขาดทุน
สำหรับระยะเวลา 1 ปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566
ค่าเช่าสำนักงาน ค่าพาหนะ ค่ารับรอง ค่าสาธารณูปโภค เงินเดือน กำไรสุทธิ | xxx xxx xxx xxx xxx xxx xxx xxxx | - - - - - - | รายได้ค่าบริการ รายได้เบ็ดเตล็ด | xxx xxx xxxx | - - |
▲ ข้อดีของงบกำไรขาดทุนแบบบัญชี
ความชัดเจน
งบกำไรขาดทุนแบบบัญชีจะแสดงผลการดำเนินงานของกิจการอย่างครบถ้วนและชัดเจน โดยแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ
ความสะดวก
งบกำไรขาดทุนแบบบัญชีสามารถจัดทำได้ง่ายและสะดวก เนื่องจากมีหลักการและรูปแบบที่ตายตัว
ความน่าเชื่อถือ
งบกำไรขาดทุนแบบบัญชีมีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ความสำคัญของงบกำไรขาดทุน (p&l)
งบกำไรขาดทุนเป็นงบการเงินที่บ่งบอกถึงรายได้และรายจ่ายของ ธุรกิจ หรือองค์กรในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมีความสำคัญมากในด้านต่าง ๆ ดังนี้
วัดประสิทธิภาพทางการเงิน
งบกำไรขาดทุนช่วยให้ผู้บริหารและนักลงทุนมองเห็นภาพรวมเกี่ยวกับประสิทธิภาพทางการเงินของธุรกิจ โดยการดูกำไรหรือขาดทุนที่ได้จากรายการรายได้และรายจ่ายต่าง ๆ
ให้ข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์สภาพการเงิน
การทำงบกำไรขาดทุนช่วยให้นักลงทุนและผู้บริหารสามารถวิเคราะห์สภาพการเงินของธุรกิจได้ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจทางธุรกิจ เช่น การลงทุน การกู้ยืมเงิน หรือการวางแผนการดำเนินธุรกิจในอนาคต
บ่งบอกถึงความสามารถในการทำกำไร
การวิเคราะห์กำไรจากงบกำไรขาดทุนช่วยให้เห็นภาพรวมเกี่ยวกับความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจว่าธุรกิจมีประสิทธิภาพในการทำกำไรหรือไม่
ช่วยในการวางแผนกลยุทธ์
ข้อมูลจากงบกำไรขาดทุนเป็นสาระสำคัญในการวางแผนกลยุทธ์ โดยทำให้เกิดการปรับตัวที่เหมาะสมเพื่อทำให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากที่สุดต่อไป
วิธีดูงบกำไรขาดทุน (Profit and Loss Statement)
1. ตรวจสอบระยะเวลาของงบกำไรขาดทุน
อันดับแรกตรวจสอบให้ทราบก่อนว่ากำลังอ่านงบการเงินที่จัดทำในช่วงเวลาไหน ซึ่งทั่วไปแล้วงบกำไรขาดทุนสามารถเลือกช่วงเวลาที่จัดทำได้ เช่น รายเดือน, รายไตรมาส หรือรายปี
ตัวอย่างเช่น งบกำไรขาดทุนนี้ระบุว่าสำหรับระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2565 แสดงว่างบการเงินนี้แสดงรายได้ ค่าใช้จ่ายและกำไรสะสม ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 จนถึงปลายปี 2565
งบกำไรขาดทุน สำหรับระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 – 31 ธันวาคม 2565 |
2. ดูว่าเป็นงบขาดทุนหรืองบกำไร
เมื่อรู้ว่างบที่กำลังดูมีกำไรหรือขาดทุนจะช่วยให้เข้าใจได้ว่าสถานการณ์ของกิจการเป็นอย่างไร
รายได้ > ค่าใช้จ่าย = กิจการมีกำไร
รายได้ < ค่าใช้จ่าย = กิจการขาดทุน
ตัวอย่างเช่น งบกำไรขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2565 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 191,077,634,015 บาท
3. ดูที่มาของรายได้
รายได้คือผลตอบแทนของการดำเนินกิจการ งบกำไรขาดทุนจะทำให้เรารู้ว่าแหล่งที่มาของรายได้ของกิจการมาจากส่วนไหนบ้าง
ตัวอย่างเช่น งบกำไรขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2565 ที่มีรายได้จาก 5 ส่วน ได้แก่ ดอกเบี้ยรับ, กำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนสุทธิ, ค่าธรรมเนียม, กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสุทธิ และรายได้อื่น
4. มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
การอ่านงบกำไรขาดทุนจะทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่ากิจการมีค่าใช้จ่ายในส่วนไหนบ้าง และสามารถบริหารจัดการให้มีค่าใช้จ่ายที่น้อยลงเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้นได้
ตัวอย่างเช่น งบกำไรขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2565 ที่มีค่าใช้จ่าย 4 ส่วน ได้แก่ ดอกเบี้ยจ่าย, ขาดทุนจากการจำหน่ายเงินลงทุนสุทธิ, ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
สรุป
วันนี้เราได้พาทุกคนมาทำความรู้จักแล้วว่า งบกำไรขาดทุน หรือ Profit and Loss Statement(p&l) คืออะไร การอ่านงบกำไรขาดทุนเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับนักลงทุน นักวิเคราะห์ และผู้บริหาร การทำความเข้าใจงบกำไรขาดทุนจะช่วยให้สามารถประเมินผลประกอบการของกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรในการตัดสินใจเลือกลงทุนในกิจการต่าง ๆ ไม่แนะนำให้พิจารณาเพียงงบกำไรขาดทุนเพียงเท่านั้น แต่ควรพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ลักษณะของธุรกิจ, การมีทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์, ข้อมูลทางเทคนิคที่ส่งเสริมการเติบโตของกิจการ เป็นต้น
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง >> |
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน