ในช่วงที่ตลาดปรับตัวลงมามากแบบนี้ นักลงทุนหลายท่านคงกำลังเล็งหุ้นไว้ แต่ก็ไม่รู้ว่าราคาที่เห็นในตอนนี้ถือว่าถูกไหม ควรจะช้อนซื้อได้แล้วหรือยัง ซื้อแล้วจะกำไรไหม ทำกำไรได้เมื่อไหร่ และคำถามมากมายแบบนี้จะใช้วิธีไหนหาคำตอบดี?
การวัดความถูกแพงของราคาหุ้นเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละบุคคล แต่ถ้ามองเรื่องความถูกแพงในการลงทุนและทำกำไรในแบบวิชาการลงทุน เราพอมีตัวชี้วัดความถูกหรือแพงของหุ้นอยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่วิธีที่เป็นที่นิยมและมักถูกนักลงทุนเน้นคุณค่า หรือวีไอ (Value Investor-VI) พูดถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นค่า PE หรือ PE Ratio แต่ PE คืออะไร และเอาไปใช้หามูลค่าหุ้นและวัดความถูกแพงของหุ้นได้อย่างไร คราวนี้เราจะมาหาคำตอบสำหรับคำถามนี้กัน
PE หรือ PE ratio คืออะไร?
PE หรือ PE ratio หรือที่เรียกว่า Price per Earning ratio อ่านชื่อแล้วก็คงพอบอกความหมายได้ว่าคือ อัตราส่วนของ ราคา ต่อ ผลกำไร ของหุ้น เป็นค่าที่บอกว่าถ้าเราซื้อหุ้นที่ราคานี้ เราต้องรอผลตอบแทนของบริษัท กี่ปี จึงจะ คุ้มทุน หากบริษัททำผลกำไรได้เท่านี้ในทุก ๆ ปี
PE คำนวณยังไง
PE คำนวณได้จาก
PE = Price / EPS
จากสมการวิธีคำนวนหาค่า PE นี้ก็จะใช้ปัจจัย 2 ตัวคือ
ราคาต่อหุ้น (Price)
เป็นราคาที่นักลงทุนซื้อหุ้นตัวนั้น ๆ ยิ่งได้หุ้นมาในราคาที่ถูก ถึงผลกำไรต่อหุ้น (EPS) จะไม่มาก ก็มีโอกาสที่ค่า PE จะออกมาต่ำ และคืนทุนได้เร็วขึ้น
ผลกำไรสุทธิต่อหุ้น (Earning Per Share-EPS)
ผลกำไรสุทธิต่อหุ้นตัวนี้คิดจากผลกำไรที่บริษัทนั้น ๆ ทำได้ในแต่ละปี แล้วเฉลี่ยออกมาเป็นสัดส่วนผลกำไรที่จะได้ต่อหุ้น นั่นหมายถึงผลกำไรที่ผู้ที่ถือหุ้นหนึ่ง ๆ จะได้ในแต่ละปี ซึ่งหากนักลงทุนสามารถคัดเลือกหุ้นที่มี EPS สูง ๆ ซึ่งหมายถึงบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรมาก ถึงแม้นักลงทุนจะซื้อหุ้นนี้มาได้ในราคา (Price) ที่สูง ก็ยังมีโอกาสคืนทุนได้เร็ว เนื่องจาก PE ที่คำนวนได้จะออกมาต่ำเนื่องจากตัวหารมีค่าสูงนั่นเอง
ถ้าคำนวนค่า PE ออกมาได้ยิ่งต่ำ ยิ่งหมายความหุ้นมีราคาถูกและใช้เวลาคืนทุนน้อย ซึ่งหมายถึงทำกำไรได้เร็วขึ้นนั่นเอง
สมมติว่านักลงทุนซื้อหุ้นหนึ่งตัวด้วยราคา 5 บาทต่อหุ้น ขณะนั้นหุ้นมี EPS ที่ 0.5 บาท หุ้นตัวนี้จะมีค่า PE ที่ 10 เท่า หมายความว่าทุก ๆ ปีบริษัทจะจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นจำนวน 0.5 บาท เมื่อครบ 10 ปี นักลงทุนที่ถือหุ้นไว้จะได้ผลตอบแทนกลับมาครบ 5 บาทและคืนทุนในปีที่ 10 และหลังจากปีที่ 10 ไปนักลงทุนจะได้รับผลกำไรจากการถือหุ้นตัวนี้โดยไม่มีต้นทุน
Forward P/E หรือ P/E ล่วงหน้า vs. Trailing P/E หรือ P/E ย้อนหลัง
1. Forward P/E หรือ P/E ล่วงหน้า
P/E ที่นิยมใช้กันมีสองประเภท คือ Forward P/E หรือ P/E ล่วงหน้า และ Trailing P/E หรือ P/E ย้อนหลัง
Forward P/E หรือ P/E ล่วงหน้า ใช้ราคาหุ้นปัจจุบันหารด้วย “กำไรในอนาคตที่คาดการณ์” ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบกำไรในปัจจุบันกับกำไรในอนาคต และช่วยให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่ากำไรจะมีลักษณะอย่างไร โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงทางบัญชีอื่นๆ
บางครั้งเรียกว่า "ราคาต่อรายได้โดยประมาณ" ตัวบ่งชี้ที่เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้านี้มีประโยชน์สำหรับการเปรียบเทียบรายได้ในปัจจุบันกับรายได้ในอนาคต และช่วยให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่ารายได้จะมีลักษณะอย่างไร โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงทางบัญชีอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม Forward P/E ก็มีข้อจำกัดที่ว่า บริษัทต่างๆ อาจประเมินกำไรต่ำเกินไปเพื่อให้เกิน P/E ที่ประเมินไว้เมื่อมีการประกาศกำไรของไตรมาสถัดไป นอกจากนี้แล้ว นักวิเคราะห์ภายนอกอาจให้ค่าประมาณที่แตกต่างจากค่าประมาณของบริษัท ทำให้เกิดความสับสน
2. Trailing P/E หรือ P/E ย้อนหลัง
Trailing P/E หรือ P/E ย้อนหลัง P/E อาศัยประสิทธิภาพในอดีตโดยการหารราคาหุ้นปัจจุบันด้วยกำไรต่อหุ้นทั้งหมดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากคิดมาจากข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงและคำนวณได้อย่างรวดเร็ว นักลงทุนบางคนชอบ Trailing P/E เพราะไม่เชื่อถือการประมาณของบุคคลอื่น
แต่ Trailing P/E ก็มีข้อบกพร่องเช่นกัน กล่าวคือ ประสิทธิภาพในอดีตของบริษัทไม่ได้ส่งสัญญาณถึงพฤติกรรมในอนาคต นักลงทุนควรวางเงินไว้ตามความสามารถในการทำกำไรในอนาคต ไม่ใช่ในอดีต หากเหตุการณ์สำคัญของบริษัทผลักดันให้ราคาหุ้นสูงขึ้นหรือต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ Trailing P/E จะสะท้อนการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นน้อยลง
ข้อจำกัดของ PE
ในโลกการลงทุนไม่สามารถวัดค่าต่าง ๆ ออกมาได้ง่ายดายขนาดนั้น วิธีนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่เนื่องจาก ค่า EPS ของหุ้นไม่ได้คงที่เสมอตลอดระยะเวลาที่นักลงทุนถือหุ้นนั้น ๆ ทำให้ค่า PE สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดระยะเวลาที่นักลงทุนถือหุ้น
เช่น นักลงทุนซื้อหุ้นมาได้ที่ราคา 5 บาท และด้วย EPS 0.5 บาทเท่ากันกับตัวอย่างก่อนหน้า ทำให้นักลงทุนได้หุ้นมาที่ค่า PE 10 เท่า และคาดหวังว่าต้องถือหุ้นไปอีก 10 ปีจึงจะคุ้มทุน แต่ระหว่างนั้นเกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและมีปัจจัยใหม่เข้ามากระทบกับผลตอบแทนที่บริษัทจะทำได้ (EPS) เช่น เกิดการขยายไลน์การผลิต หรือขยายตลาดการส่งออก ทำให้ผลตอบแทนต่อหุ้นของบริษัทนั้น ๆ (EPS) ปรับขึ้นมาที่ 1 บาทต่อหุ้น การเปลี่ยนแปลงนี้กระทบค่า PE ทำให้ปรับตัวลงมาเหลือ 5 ทันที หมายความว่าบริษัทมีความสามารถทำกำไรได้มากขึ้น ทำให้จุดคุ้มทุนของการถือหุ้นนี้จะเหลือเพียง 5 ปีเท่านั้น
ในทางกลับกัน สมมติให้หากมีปัจจัยเชิงลบที่กระทบต่อผลกำไรของบริษัท เช่น บริษัทถูกกีดกันทางการค้า หรือถูกเรียกค่าเสียหาย ทำให้ผลกำไรต่อหุ้นปรับลดลงมาเหลือ 0.25 บาทต่อหุ้น ทำให้ค่า PE ของหุ้นที่นักลงทุนได้มาด้วยราคา 5 บาทนี้เปลี่ยนไปเป็น 20 เท่า นั่นหมายถึงนักลงทุนต้องถือหุ้นนี้ไปเป็นเวลา 20 ปีจึงจะคุ้มทุนและเริ่มมีกำไร
ดังนั้นจะเห็นว่าการเลือกใช้เครื่องมีอย่าง PE ในการประเมินการลงทุนในหุ้นนั้น ๆ ยังคมีข้อจำกัด แต่ทั้งนี้วิธีนี้ก็ยังเป็นที่นิยมเนื่องจากสามารถเปรียบเทียบความถูกแพงของหุ้นแต่ละตัวในตลาดได้อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งหลังจากเลือกหุ้นที่ PE ได้แล้ว นักลงทุนสามารถประเมินข้อจำกัดของการลงทุนด้วยวิธีนี้อีกครั้ง ก็จะช่วยลดข้อผิดพลาดของการลงทุนลงไปได้
ส่งท้าย
นักลงทุนที่ต้องการประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือเดียวเพื่อใช้ในทุกสถานการณ์ ในความผันผวนของตลาดเราอาจนำเครื่องมือทางเทคนิคเข้ามาเป็นตัวช่วย แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนและเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้เลือกเฟ้นหุ้นดีเก็บเข้าพอร์ตนักลงทุนก็ไม่ควรพลาดโอกาสนั้น แต่การคะเนความถูกแพงของหุ้นจากเปอร์เซนต์การปรับลดลงจากจุดสูงสุดอาจให้ค่าที่คลาดเคลื่อนได้ จากบทความนี้นักลงทุนได้เรียนรู้กันมาแล้วว่า PE ratio คืออะไร นำมาใช้ได้อย่างไร และมีอะไรที่ต้องระวังบ้าง PE จึงเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่นักลงทุนสามารถศึกษาไว้เพื่อจับจังหวะลงทุนได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้เก็บหุ้นถูกและดีเข้าพอร์ตได้ต ่อไป
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน