งบกระแสเงินสด(Cash Flow Statement)คืออะไร
งบกำไรขาดทุนอาจเป็นส่วนในงบการเงินที่นักลงทุนให้ความสำคัญ แต่งบกระแสเงิ นสดคือส่วนที่สำคัญสำหรับนักลงทุนมากไม่แพ้กัน เพราะเงินสดคือสิ่งที่ขับเคลื่อนกิจการให้บริษัทนำไปใช้จ่ายในกิจกรรมต่าง ๆ และงบกระแสเงินสดนี้เองที่จะเป็นตัวบอกว่ากระแสเงินสดของกิจการมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และเป็นตัวบอกด้วยว่ากิจการนั้น ๆ ยังมีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับการดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่ ซึ่งคราวนี้เราจะมาทำความรู้จักกับงบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement) คืออะไรอย่างง่ายสำหรับนักลงทุนเพื่อคัดกรองบริษัทที่น่าสนใจกัน
งบกระแสเงินต่างจากงบแสดงฐานะการเงิน และ งบกำไรขาดทุน อย่างไร
ในการวิเคราะห์งบการเงินจะประกอบด้วย งบแสดงฐานะการเงิน (Balance Sheet), งบกำไรขาดทุน (Income statement) และ งบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement) ซึ่งรายงานทางการเงินทั้งสามตัวล้วนสามารถบอกสภาวะและศักยภาพทางการเงินของบริษัทได้ในความหมายที่แตกต่างกัน และเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับนักลงทุนในการคัดเลือกหุ้นดีที่มีคุณภาพในระยะยาวที่นักลงทุนควรทำความรู้จักไว้
งบแสดงฐานะทางการเงิน (Balance Sheet)
หรือ งบดุล คือรายงานที่บอกส่วนของทรัพย์สิน หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ ที่เป็นตัวบ่งชี้ฐานะทางการเงินของกิจการ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับนักลงทุนที่จะช่วยบอกว่า ณ วันใดวันหนึ่ง บริษัทยังคงมีมูลค่าของส่วนของเจ้าของเหลืออยู่เท่าไหร่
งบกำไรขาดทุน (Income statement)
เป็นงบที่แสดงผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น รายปี รายไตรมาส (3 เดือน) หรือ รายครึ่งปี (6 เดือน) ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยให้เห็นว่าในรอบรายงานนั้นบริษัทสามารถทำกำไรได้เท่าไหร่ หรือว่ามีผลการดำเนินงานเป็นผลขาดทุน และรวมเบ็ดเสร็จแล้วเป็นตัวเลขเท่าไหร่ ซึ่งส่วนนี้จะเป็นรายงานที่ช่วยให้นักลงทุนได้ติดตามศักยภาพของบริษัทในการเติบโตระยะยาว
งบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement)
คือส่วนที่แสดงกระแสเงินสดคงเหลือในบริษัทว่าจริง ๆ แล้ว ณ วันปิดบัญชีบริษัทยังมีเงินสดสำหรับขับเคลื่อนกิจการอีกเท่าไหร่ เพียงพอสำหรับการดำเนินงานของกิจการหรือไม่
งบการเงินทั้ง 3 ส่วน ถือเป็นหัวใจหลักของการวิเคราะห์พื้นฐาน (Foundamental Analysis) ที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถประเมินมูลค่าหุ้นและคัดเลือกบริษัทที่มีศักยภาพในราคาถูกเพื่อการลงทุนในระยะยาว ซึ่งในคราวนี้เราจะมาลงลึกกันต่อว่างบกระแสเงินสดคืออะไร
งบกระแสเงินสด คืออะไร
งบกระแสเงินสด คือ งบที่ใช้แสดงการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกระแสเงินสดในกิจการ ว่ามีการทำกำไรได้เป็นเงินสดมาเท่าไหร่ มีรายได้ที่เป็นเงินสดจากช่องทางอื่น ๆ อีกหรือไม่ และนำเงินสดที่ได้นั้นไปทำอะไรบ้าง จนสุดท้ายแล้วบริษัทยังคงเหลือกระแสเงินสดสำหรับดำเนินกิจการอีกเท่าไหร่
การเปลี่ยนแปลงของกระแสเงินสดที่จะแสดงในงบกระแสเงินสดนั้นจะถูกแจกแจงออกมาใน 3 ช่องทาง ได้แก่
กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (Cash Flows from Operating Activities)
คือ ส่วนที่แสดงกระแสเงินสดที่บริษัทได้รับและจ่ายไปจากการดำเนินกิจการ เช่น บริษัทจะได้รับเงินสดจากการขายสินค้า ค่านายหน้า ค่าลิขสิทธิ์ ฯลฯ และต้องจ่ายเงินสดออกไปจากค่าต้นทุนการผลิต ภาษี รวมถึงรายจ่ายอื่น ๆ ในการดำเนินกิจการ ฯลฯ
กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน (Cash Flows from Investing Activities)
คือ ส่วนที่แสดงกระแสเงินสดที่ได้รับมาและจ่ายไปเพื่อการขายหรือลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาว เช่น บริษัทจะได้กระแสเงินสดจากการขายที่ดิน ขายหลักทรัพย์ และต้องจ่ายเงินสดออกไปเมื่อต้องการซื้อที่ดินสิ่งก่อสร้าง หรือลงทุนในหลักทรัพย์อื่น ๆ
กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน (Cash Flows from Financing Activities)
คือ ส่วนที่แสดงกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืม เช่น บริษัทจะได้กระแสเงินสดจากการออกตราสารหนี้/ตราสารทุน การกู้ยืม และต้องจ่ายกระแสเงินสดออกไปเมื่อมีการจ่ายหนี้ ซื้อหุ้นคือน หรือไถ่ถอนตราสารหนี้ ฯลฯ
ดังนี้แล้ว เมื่อเราเปิดงบกระแสเงินสดของแต่ละบริษัทออกดูก็จะพบกับเส้นทางที่บริษัทได้รับกระแสเงินสดมาจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินกิจการ การขายสินทรัพย์ที่ลงทุน หรือ การกู้ยืม และเส้นทางที่บริษัทต้องจ่ายกระแสเงินสดออกไปจากการซื้อหาต้นทุนปัจจัยการผลิต การลงทุน รวมถึงการจ่ายคืนเงินกู้
การที่บริษัทมีเงินสดในงบกระแสเงินสดมาก ๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องดีเสมอไป ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแหล่งที่มาของเงินสดและการใช้ไปที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละบริษัท ซึ่งนี่เองที่เป็นงานที่นักลงทุนต้องเข้าไปดูและทำการวิเคราะห์ออกมา
หน้าตาของงบกระแสเงินสดที่ดีควรเป็นอย่างไร
งบกระแสเงินสดของบริษัทที่มีกระแสเงินสดเหลือมาก ๆ อาจไม่ใช่หน้าตาของงบกระแสเงินสดที่ดี เนื่องจากเป็นการเสียโอกาสที่จะนำเงินสดเหล่านั้นไปสร้างดอกผลให้กับบริษัทต่อไป ในทางตรงกันข้ามงบกระแสเงินสดของบริษัทที่มีกระแสเงินสดติดลบก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นงบกระแสเงินสดที่ไม่ดี หากในปีนั้น ๆ บริษัทมีการจ่ายเงินสดออกไปเพื่อการลงทุนครั้งใหญ่ในระยะยาว ดังนั้นแล้วการวิเคราะห์งบกระแสเงินสดจึงมีรายละเอียดที่ต้องดูมากกว่ายอดเงินสดคงเหลือในบรรดทัดสุดท้าย ที่เราจะสามารถวิเคราะห์งบกระแสเงินสดได้ดังต่อไปนี้
การวิเคราะห์กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน
ถือเป็นส่วนหลักของการวิเคราะห์งบกระแสเงินสดโดยจะเป็นส่วนที่ทำให้นักลงทุนได้เห็นว่ากระแสเงินสดที่บริษัทได้มานั้นมาจากการดำเนินงานของบริษัทหรือไม่ ซึ่งหากบริษัทมีกระแสเงินสดส่วนใหญ่มาจากการดำเนินงาน แสดงว่ากระแสเงินสดที่บริษัทมีนั้นสะท้อนผลการดำเนินงานจริง ๆ ทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นส่วนหลักที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญ
ข้อควรระวังสำหรับการวิเคราะห์กระแสเงินสดจากการดำเนินงานก็คือ หากในปีนั้นบริษัทมีการรายงานงบกระแสเงินสดเป็นบวกมาก ๆ ในบรรทัดสุดท้าย แต่เมื่อเจาะลงมาดูที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นลบ นักลงทุนควรสงสัยไว้ก่อนว่างบกระแสเงินสดนี้อาจเป็นรายได้ครั้งเดียวจบ เช่น การขายสินทรัพย์ออกไป ทำให้งบกระแสเงินสดที่เป็นบวกมาก ๆ นั้นมีโอกาสที่จะไม่ใช่ตัวเลขที่ยั่งยืน
การวิเคราะห์งบกระแสเงินสดจากการลงทุน
เป็นส่วนที่ไม่ได้วิเคราะห์ได้แบบตรงไปตรงมาเหมือนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพราะไม่จำเป็นว่ากระแสเงินสดจากการลงทุนเป็นบวกแล้วจะดี บริษัทที่มีการเติบโตได้ในระยะยาวจำเป็นต้องอาศัยการลงทุนในเครื่องจักรและเทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอ ทำให้การมีกระแสเงินสดจากการลงทุนเป็นลบอาจหมายถึงศักยภาพที่บริษัทจะแข่งขันได้ในระยะยาว และการมีกระแสเงินสดจากการลงทุนเป็นบวกอาจหมายถึงการขายสินทรัพย์ เช่น ที่ดิน อาคารสิ่งปลูกสร้างออกไป ซึ่งหมายถึงเงินก้อนที่จะได้ครั้งเดียวแล้วจบไป ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป
การวิเคราะห์งบกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน
เป็นส่วนที่นักลงทุนไว้ใช้สังเกตการเพิ่มทุน หรือการจัดหากระแสเงินสดเพิ่มเติมในกรณีที่บริษัทมีกระแสเงินสดไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ ซึ่งต้องดูควบคู่กับสองส่วนแรกด้วย โดยหากส่วนนี้เป็นลบแสดงว่าบริษัทมีการจ่ายกระแสเงินสดออกไปและมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งแสดงถึงฐานะการเงินที่ดีของบริษัท ในทางตรงกันข้ามหากงบกระแสเงินสดในส่วนนี้เป็นบวกแสดงว่าบริษัทมีการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมซึ่งจะมีต้นทุนเป็นดอกเบี้ยตามมา
หากงบกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินรายงานเป็นบวกในระยะสั้น ๆ ควบคู่กับการรายงานงบกระแสเงินสดจากการลงทุนเป็นลบ แสดงว่าบริษัทมีการกู้หรือจัดหาเงินทุนสำหรับจ่ายไปเพื่อการลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับการแข่งขันของบริษัทในระยะยาว แต่หากมีการรายงานงบกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินเป็นบวกติดต่อกันยาวนาน อาจหมายถึงว่ากระแสเงินสดที่ใช้ในกิจการมาจากการกู้ยืมซึ่งจะส่งผลต่อพื้นฐานของบริษัทในระยะยาว
ตัวอย่างงบกระแสเงินสด
ลองมาดูงบกระแสเงินสดของ Microsoft ตลอดปี 2020 ถึง 2023 บริษัทยังมีกระแสเงินสดหลักมาจากการดำเนินกิจการและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก $60 พันล้านเป็น $87 พันล้านในปี 2023 ซึ่งเมื่อเข้าไปดูรายละเอียดแล้วรายได้ที่เป็นกระแสเงินสดยังเป็นรายได้จากการดำเนินกิจการ (Net Income from Continuing Operartion) แสดงถึงศักยภาพในการสร้างรายได้ของบริษัท และบริษัทยังคงมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากปี 2020 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินกิจการ ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ไม่ได้กระทบกับงบกระแสเงินสดโดยรวมมากนัก
จุดที่น่าสนใจสำหรับงบกระแสเงินสด Microsoft คือบริษัทมีกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินสูงสม่ำเสมอในระดับ $40 - $50 พันล้าน ซึ่งเมื่อเข้าไปดูแล้วส่วนใหญ่เป็นเงินที่ใช้ไปสำหรับการซื้อหุ้นคืน (Net Common Stock Issuance) ซึ่งเป็นเงินที่จ่ายไปแล้วเพิ่มเป็นสินทรัพย์ให้กับบริษัทจึงไม่ใช่กระแสเงินสดที่จ่ายครั้งเดียวแล้วหายไป จนท้ายสุดแล้วบริษัทยังคงเหลือกระแสเงินสดหมุนเวียน (Free Cash Flow) ในระดับ $50 - $60 พันล้านที่ยังคงแสดงถึงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทได้ดี
งบกระแสเงินสดคือเครื่องมือตัวหนึ่งของการวิเคราะห์พื้นฐาน (Fundamental Analysis) ที่ทำให้นักลงทุนได้เห็นการได้มาและการจ่ายไปของกระแสเงินสดที่หมุนเวียนอยู่ในบริษัท ซึ่งตัวเลขบรรทัดสุดท้ายที่แสดงว่าบริษัทมีกระแสเงินสดคงเหลืออยู่เท่าไหร่อาจไม่ได้เป็นตัวการันตีได้ว่าบริษัทจะมีพื้นฐานทางการเงินที่ดี แต่นักลงทุนต้องเข้าไปดูกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน จากการลงทุน และจากการจัดหาเงิน ควบคู่กัน เพื่อประเมินว่าพื้นฐานของบริษัทยังดีอยู่หรือไม่สำหรับการตัดสินใจเข้าลงทุนต่อไป
บทความที่คุณอาจจะสนใจด้วย |
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน