เครื่องหมาย CA คืออะไร
เคยสังเกตไหมเวลาที่เข้าไปในโปรแกรม Streaming คุณมักจะเห็นตัวย่อแปลก ๆ ต่อท้ายหุ้นอยู่ เช่น CA, XM, XD, XN และอื่น ๆ ความจริงแล้วเครื่องหมายตั วย่อเหล่านี้หมายถึงอะไรกันแน่? แล้วทำไมคุณถึงต้องควรทำความรู้จักก่อนซื้อขายหุ้น บทความนี้จึงได้ทำการรวบรวมเครื่องหมายท้ายหุ้นมาให้คุณได้ทำความรู้จักกันแบบเข้าใจง่าย อ่านจบแล้วเข้าใจได้ทันที
เครื่องหมาย CA ท้ายหุ้นหมายถึงอะไร
CA ย่อมากจาก Corporate Action แปลว่า การดำเนินการของบริษัท หมายความว่า “หุ้นตัวดังกล่าวกำลังจะมีความเคลื่อนไหวบางอย่างภายใน 7 วัน” ซึ่งคุณสามารถดูว่าการเคลื่อนไหวที่ว่านั้นคืออะไรด้วยการคลิกที่ตัวย่อ CA มันจะแสดงข้อมูลสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นว่าคือเรื่องอะไรและจะเกิดขึ้นเมื่อไร โดยแสดงเป็นตัวย่อต่อท้ายหุ้นนั้น ซึ่งตัวย่อท้ายหุ้นสามารถแบ่งแยกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังต่อไปนี้
1. เครื่องหมายท้ายหุ้นตระกูล X
เครื่องหมายท้ายหุ้นประเภทนี้จะขึ้นต้นด้วยตัว X ย่อมาจากคำว่า “Excluding” หมายความว่า “นักลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิ (บางอย่าง)” ตัวอย่างเครื่องหมายท้ายหุ้นตระกูลนี้ เช่น
XD ย่อมาจาก Excluding Dividend หมายถึง ถ้าซื้อหุ้นตอนที่ขึ้นว่า XD คุณจะไม่ได้รับสิทธิรับเงินปันผลรอบนี้ แต่ถ้าซื้อหุ้นนี้แล้วถือต่อไปเรื่อย ๆ จนมีการขึ้นคำว่า XD อีกรอบ คุณจะมีสิทธิรับเงินปันผล (การปันผลจากส่วนของกำไรในการดำเนินกิจการของบริษัทให้กับผู้ถือหุ้น) ในรอบต่อไป
คำถามที่พบบ่อย (Q&A)
Q: จะรู้ได้ยังไงว่าหุ้นนั้นจะขึ้น XD วันไหน?
A: คุณสามารถเข้าไปดูที่ปฏิทินหลักทรัพย์ในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ หรือ คลิกที่เครื่องหมาย CA ที่ต่อท้ายหุ้นจะแสดงให้เห็นว่าจะมีเหตุการณ์ XD เกิดขึ้นหรือไม่
Q: ต้องซื้อหุ้นมานานแค่ไหนถึงจะได้เงินปันผล?
A: การซื้อหุ้นเพื่อได้รับเงินปันผล สามารถซื้ออย่างช้าที่สุดคือวันก่อนที่หุ้นตัวนั้นจะขึ้นว่า XD เช่น คุณซื้อหุ้นวันที่ 1 แล้ววันที่ 2 หุ้นตัวนั้นขึ้น XD หมายความว่าคุณยังคงได้รับเงินปันผล
Q: ซื้อหุ้นก่อนวันขึ้น XD เล็กน้อยจะได้รับเงินปันผลเท่าคนที่ซื้อมาก่อนหน้านั้นหรือไม่?
A: ไม่ว่าจะซื้อหุ้นก่อนหรือหลังก็ได้รับเงินปันผลในอัตราเท่ากัน
XM ย่อมาจาก Excluding Meetings หมายถึง ถ้าซื้อหุ้นตอนขึ้นว่า XM คุณจะไม่ได้รับสิทธิเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น (การจัดประชุมเพื่อให้ผู้ถือหุ้นที่มีฐานะเป็นเจ้าของบริษัทได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นสำคัญ นอกเหนือจากที่มอบอำนาจให้แก่คณะกรรมการบริษัทบริหารงาน)
XW ย่อมาจาก Excluding Warrant หมายถึง ถ้าซื้อหุ้นตอนขึ้นว่า XW คุณจะไม่ได้รับสิทธิซื้อหุ้น Warrant (หุ้น Warrant คือ หุ้นลูกที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียน) ซึ่งหุ้น Warrant หรือ หุ้นลูกสามารถแปลงสิทธิเป็นหุ้นแม่ได้ โดยคุณจะต้องดูว่าอัตราการใช้สิทธิอยู่ที่เท่าไร โดยส่วนใหญ่อัตราจะอยู่ที่ 1:1 หรือแบบราคาใช้สิทธิ คือ ถ้าคุณต้องการแปลงหุ้น Warrant เป็นหุ้นแม่ คุณต้องจ่ายเงินเพิ่มทำให้บริษัทได้รับทุนเพิ่ม
XS ย่อมาจาก Excluding Short-term Warrant หมายถึง ถ้าซื้อหุ้นตอนขึ้นว่า XS คุณจะไม่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นระยะสั้น
XR ย่อมาจาก Excluding Right หมายถึง ถ้าซื้อหุ้นตอนขึ้นว่า XR คุณจะไม่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่ ซึ่งโดยปกติแล้วการจองซื้อหุ้นออกใหม่จะเป็น “หุ้นเพิ่มทุน” เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจเกิดจากที่บริษัทไปเจอโอกาสใหม่ที่ดีมากแต่ขาดกำลังทรัพย์ก็เลยอยากระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเดิมเพื่อทำการขยายบริษัทให้เติบโตมากขึ้น
XT ย่อมาจาก Excluding Transferable Subscription Right หมายถึง ถ้าซื้อหุ้นตอนขึ้นว่า XT คุณจะไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน (หุ้นใหม่ที่บริษัทออกเพิ่มเติมจากหุ้นเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อจุดประสงค์ในการระดมทุนเพิ่มจากผู้ถือหุ้น และนำมาจำหน่ายสู่ตลาดหุ้นให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยสิทธิประโยชน์ของหุ้นเพิ่มทุนจะเท่ากับหุ้นเดิมทุกประการ) ที่โอนสิทธิได้
XI ย่อมาจาก Excluding Interest หมายถึง ถ้าซื้อหุ้นตอนขึ้นว่า XI คุณจะไม่ได้รับดอกเบี้ย
XP ย่อมาจาก Excluding Principal หมายถึง ถ้าซื้อหุ้นตอนขึ้นว่า XP คุณจะไม่ได้รับเงินต้นที่บริษัทประกาศจ่ายคืนในรอบนั้น
XA ย่อมาจาก Excluding All หมายถึง ถ้าซื้อหุ้นตอนขึ้นว่า XA คุณจะไม่ได้รับสิทธิทุกอย่างที่บริษัทกำลังจะประกาศออกมา โดยสามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ว่าจะมีสิ่งใดบ้างที่กำลังจะประกาศ
XE ย่อมาจาก Excluding Exercise หมายถึง ถ้าซื้อหุ้นตอนขึ้นว่า XE คุณจะไม่ได้สิทธิในการนำตราสารสิทธิไปแปลงสภาพเป็นหุ้นอ้างอิง
XN ย่อมาจาก Excluding Capital Return หมายถึง ถ้าซื้อหุ้นตอนขึ้นว่า XN คุณจะไม่ได้รับสิทธิในการรับเงินคืนจากการลดทุน (การลดทุน คือ การที่บริษัทบริหารเงินทุนให้เหมาะสมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่ขาดทุนสะสมเป็นเวลานานหรือเป็นเงินจำนวนมาก การลดทุนจะช่วยลดผลขาดทุนสะสมให้น้อยลงหรือหมดไปได้)
XB ย่อมาจาก Excluding Other Benefit หมายถึง ถ้าซื้อหุ้นตอนขึ้นว่า XB คุณจะไม่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่ในกรณีดังต่อไปนี้
o หุ้นบุริมสิทธิที่จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญ
o หุ้นสามัญที่จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิหลักทรัพย์ที่เสนอขายให้คนทั่วไปโดยจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทจดทะเบียน
o หลักทรัพย์ของบริษัทในเครือ
(หุ้นบุริมสิทธิ คือ หลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่บริษัทออกมาเพื่อการระดมทุน คล้ายกับตราสารหนี้หรือหุ้นสามัญ แต่มีความเป็นผสมผสานระหว่างหุ้นกู้และหุ้นสามัญ โดยผลตอบแทนมักจะคงที่เช่นเดียวกับตราสารหนี้และไม่มีการกำหนดระยะเวลาการไถ่ถอนเช่นเดียวกับหุ้นสามัญ)
2. เครื่องหมายท้ายหุ้นตระกูล T
เครื่องหมายท้ายหุ้นประเภทนี้จะขึ้นต้นด้วยตัว T โดยหุ้นที่มีตัว T ต่อท้ายจะเป็นหุ้นที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก มีการเก็งกำไรสูง ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาตรการเพื่อจำกัดการพุ่งทะยานของหุ้นตัวนั้น โดยแบ่งเป็น T1, T2 และ T3 ตามลำดับ
T1 ย่อมาจาก Trading Alert Level 1 หมายถึง ระดับ 1 ซึ่งหุ้นตัวนี้ต้องซื้อด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น โดยจะถูกขึ้นเครื่องหมายนี้เป็นเวลา 3 สัปดาห์หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศ
T2 ย่อมาจาก Trading Alert Level 2 หมายถึง ระดับ 2 คือ ถ้าหุ้นที่ติด T1 ยังคงเข้าเกณฑ์ Trading Alert List หลังจากประกาศมาตรการไม่เกิน 1 เดือน จะถูกเพิ่มเป็นระดับ T2 หุ้นตัวนี้ยังคงต้องซื้อด้วยบัญชีเงินสด (Cash Balance) เท่านั้นและห้ามนำหุ้นตัวนี้มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันทุกบัญชี โดยจะถูกขึ้นเครื่องหมายนี้เป็นเวลา 3 สัปดาห์หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศ
T3 ย่อมาจาก Trading Alert Level 3 หมายถึง ระดับ 3 คือ ถ้าหุ้นที่ติด T2 ยังคงเข้าเกณฑ์ Trading Alert List หลังจากประกาศมาตรการไม่เกิน 1 เดือน จะถูกเพิ่มเป็นระดับ T3 ทำให้หุ้นตัวนี้ต้องซื้อด้วยบัญชี Cash Balanceเท่านั้น, ห้ามนำหุ้นตัวนี้มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันทุกบัญชี และห้ามหักกลบ (Settlement) ซึ่งหมายความว่า ปกติแล้วคุณซื้อหุ้นจากบัญชี Cash Balance 10,000 บาท แล้วขาย อำนาจการซื้อก็จะกลับมาในทันที แต่ถ้าเป็นหุ้นที่ติด T3 เมื่อทำการขายแล้วอำนาจการซื้อจะไม่กลับมาในทันทีแต่จะกลับมาในวันพรุ่งนี้แทน โดยมาตรการนี้ช่วยป้องกันการซื้อขายหลายรอบในวันเดียว
บัญชี Cash Balance คือ บัญชีที่เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ เนื่องจากมีเงินในบัญชีนี้เท่าไรก็สามารถลงทุนได้เท่านั้น นอกจากจะง่ายต่อการเข้าใจแล้วยังถือเป็นการจำกัดวงเงินในการซื้อหุ้นด้วยเงินที่มีอีกด้วย
3. เครื่องหมายตัวย่อเตือนให้นักลงทุนระวัง
เครื่องหมายท้ายหุ้นประเภทนี้ หมายถึง เครื่องหมายที่แสดงให้นักลงทุนระมัดระวังในการลงทุน ตัวอย่างเช่น
•H ย่อมาจาก Trading Halt หมายถึง หุ้นตัวนี้หยุดการซื้อขายชั่วคราว 1 รอบการซื้อขาย (ใน 1 วันมีรอบการซื้อ/ขาย 2 รอบ คือ รอบเช้าและรอบบ่าย)
คำถามที่พบบ่อย (Q&A)
Q: กรณีไหนหุ้นถึงขึ้นตัว H?
A: อาจมีข่าวบางข่าวหลุดออกมาถึงคนทั่วไป แต่ข่าวนั้นบริษัทจดทะเบียนนั้นยังไม่ได้รายการต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ
SP ย่อมาจาก Trading Suspension หมายถึง หุ้นตัวนี้หยุดการซื้อขายชั่วคราวเกินกว่า 1 รอบการซื้อ/ขาย โดยอาจเกิดจากสาเหตุคล้ายกับตัว H เช่น มีข่าวออกมาโดยที่บริษัทจดทะเบียนนั้นยังไม่ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ รวมไปถึงการไม่ส่งงบการเงินด้วย
NP ย่อมาจาก Notice Pending หมายถึง บริษัทมีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ เมื่อบริษัทดำเนินการส่งรายงานเรียบร้อยแล้วเครื่องหมาย NP จะเปลี่ยนเป็น NR ย่อมาจาก Notice Received หมายถึง บริษัทหลักทรัพย์ได้รับการชี้แจงรายการจากบริษัทเรียบร้อยแล้ว
NC ย่อมาจาก Non-Compliance หมายถึง บริษัทนั้นเข้าเกณฑ์ที่จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้น โดยอาจเกิดจากการที่บริษัทนั้นขาดทุนอย่างมากเป็นระยะเวลายาวนาน หรือ ไม่ส่งงบการเงินเป็นระยะเวลานาน เมื่อบริษัทติดเครื่องหมาย NC แล้วจะมีเวลา 1 ปีในการแก้ไขสาเหตุที่ทำให้ติดเครื่องหมายนี้ให้เรียบร้อย เช่น การไม่ยื่นส่งงบการเงิน บริษัทก็ต้องไปทำการเคลียร์เอกสารและจัดส่งให้เรียบร้อย เป็นต้น
ST ย่อมาจาก Stabilization หมายถึง หุ้นตัวนี้กำลังต้องการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้น ซึ่งวิธีที่บริษัทนิยมทำกันมากเพื่อให้ได้เครื่องหมาย ST นี้คือการทำ “Greenshoe” ซึ่งคือการที่บริษัทออกหุ้น IPO (หุ้นที่มีการซื้อขายเป็นครั้งแรกให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อที่จะมาจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ) เกินกว่าที่กำหนด เพื่อที่บริษัทจะใช้หุ้นที่เกินมานั้นในการประคองราคาไม่ให้ต่ำกว่าราคาหุ้น IPO ในระยะเวลา 30 วันแรก
C ย่อมาจาก Caution หมายถึง บริษัทนี้กำลังมีปัญหา มีความเสี่ยงด้านการเงินอย่างสูง เป็นการเตือนนักลงทุนให้หลีกเลี่ยงการลงทุนหุ้นตัวนี้ไปก่อน โดยบริษัทจดทะเบียนที่เข้าเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
oฐานะทางการเงิน
-ส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว
-ศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการหรือคำฟ้องล้มละลาย (การที่บริษัทหรือบุคคลนั้น ๆ มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือมีหนี้สินจำนวนมากและไม่มีคุณสมบัติเพียงพอในการชำระหนี้ได้)
-หน่วนงานกำกับมีคำสั่งให้แก้ไขฐานะทางการเงินหรือการดำเนินการ โดยให้ระงับการดำเนินการบางส่วนหรือไม่ให้ขยายธุรกิจชั่วคราว
oงบการเงิน
-ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความคิดเห็น เนื่องจากถูกจำกัดขอบเขตจากบริษัทจดทะเบียนหรือกรรมการ
-ก.ล.ต. (คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) สั่งแก้ไขงบการเงินหรือสั่งให้มีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ
oลักษณะธุรกิจ
-บริษัทเป็น Cash Company (กรณีที่บริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทย่อยทำการขายสินทรัพย์ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่ใช้ในการดำเนินการธุรกิจออกไป จนทำให้สินทรัพย์ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดอยู่ในรูปของเงินสดหรือหลักทรัพย์ระยะสั้น)
เครื่องหมาย CA นั้นเป็นเครื่องหมายท้ายหุ้นที่บ่งบอกให้นักลงทุนทราบว่ากำลังจะเกิดเหตุการณ์ (Events) บางอยางกับหุ้นตัวนั้น ซึ่งเหตุการณ์นั้นจะเป็นเรื่องอะไรและจะเกิดขึ้นเมื่อไร สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ง่าย ๆ เพียงแค่คลิกเข้าไปดูก็สามารถรู้ได้แล้ว แต่การแสดงผลมักแสดงเป็นตัวย่อต่าง ๆ ซึ่งการทำความเข้าใจถึงความหมายของตัวย่อจึงมีความสำคัญอย่างมาก
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน