Investing.com - สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงในวันนี้ โดยเงินหยวนของจีนร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น หลังจากว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะเพิ่มภาษีการค้านำเข้าสำหรับจีน เม็กซิโก และแคนาดา
ทรัมป์ขู่ว่าจะเพิ่มภาษีนำเข้าถึง 25% สำหรับสินค้าทั้งหมดจากเม็กซิโกและแคนาดา และเพิ่มภาษีอีก 10% สำหรับสินค้าจากจีน
ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย โดยล่าสุดเพิ่มขึ้น 0.2% หลังขยับลงเล็กน้อยจากระดับสูงสุดก่อนหน้า อีกทั้งเมื่อวันจันทร์การแต่งตั้งสก็อตต์ เบสเซนต์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับลดลงอย่างมากและกดดันเงินดอลลาร์
คู่ USD/CNY ของเงินหยวนในตลาดจีนปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% สู่ระดับสูงสุดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ขณะที่คู่ USD/CNH ของเงินหยวนในตลาดนอกประเทศเพิ่มขึ้น 0.2%
สกุลเงินในภูมิภาคอื่น ๆ ก็เผชิญแรงกดดันเช่นกัน เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น
คู่เงิน USD/SGD ของดอลลาร์สิงคโปร์เพิ่มขึ้น 0.2% ขณะที่คู่ USD/THB ของเงินบาทเพิ่มขึ้น 0.3%
คู่เงิน AUD/USD ของดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อความขัดแย้งทางการค้าของจีนกับสหรัฐฯ ลดลง 0.2%
ในทางกลับกัน คู่เงิน USD/JPY ของเยนญี่ปุ่นลดลง 0.4% เนื่องจากนักลงทุนหันไปหาสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น
คำขู่เรื่องภาษีของทรัมป์สร้างแรงกดดันต่อตลาดเอเชีย
ทรัมป์เคยประกาศว่าจะเพิกถอนสถานะการค้าแบบชาติที่ได้รับการปฏิบัติพิเศษ (most-favored-nation) ของจีน และเพิ่มภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าจีนขึ้นถึง 60% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับภาษีในช่วงที่เข้าดำรงตำแหน่งครั้งแรก
สำหรับตลาดเอเชียนโยบายภาษีของทรัมป์ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย ซึ่งมีทั้งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในอนาคต ประกอบกับเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นก็ได้เพิ่มความผันผวนของค่าเงินในภูมิภาค
เศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกสูง เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย ยังอาจเผชิญกับการเติบโตที่ลดลงเนื่องจากความต้องการสินค้าจากเอเชียในสหรัฐฯ ลดลง
คู่เงิน USD/KRW ของวอนเกาหลีใต้ และคู่เงิน USD/TWD ของดอลลาร์ไต้หวันขยับเพิ่มขึ้น 0.1% ขณะที่คู่เงิน USD/MYR ของริงกิตมาเลเซียเพิ่มขึ้น 0.3%
ด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีการบริโภคในประเทศสูง เช่น อินเดียและอินโดนีเซีย อาจได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรโดยตรงในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ต้นทุนสินค้านำเข้าที่สูงขึ้นและการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานโลกก็อาจส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้
คู่เงิน USD/INR ของรูปีอินเดียแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ 84.28 โดยยังคงอยู่ใกล้กับระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
จับตาการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของเกาหลีใต้ และข้อมูลจากเฟด
ธนาคารกลางเกาหลีใต้เตรียมตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยในวันพุธ ขณะที่อินเดียเตรียมเปิดเผยรายงาน GDP ประจำไตรมาสสามในวันศุกร์ และจีนจะมีการประกาศรายงาน PMI ในวันเสาร์
ในสหรัฐฯ ข้อมูลดัชนีราคา PCE ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางให้ความสำคัญ ก็มีกำหนดการณ์จะเผยแพร่ในวันพุธ ซึ่งอาจให้เบาะแสเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด ขณะที่ บันทึกการประชุมของเฟด ในเดือนพฤศจิกายนนั้นจะมีการเผยแพร่ในวันพฤหัสบดี