Swing Trade คืออะไรและตัวอย่างสำหรับ Swing Trade
Swing Trade คืออะไร เป็นคำถามที่นักเทรดมือใหม่ควรรู้ เนื่องจากเป็นกลยุทธ์สำคัญที่สามารถนำมาใช้เทรดได้ทั้งหุ้น Forex สกุลเงินดิจิทัล หรือสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งยังนำไปใช้ให้ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก เพียงแค่มีเงื่อนไขและรายละเอียดที่ต้องคำนึงถึงอยู่บ้าง บทความนี้จึงจะขอชวนทุกท่านไปทำความรู้จักกับ Swing Trade ข้อดีข้อเสียของการนำไปใช้ รวมถึงเครื่องมือที่จะทำให้สามารถนำกลยุทธ์นี้ไปใช้เพื่อทำกำไรได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีอะไรบ้างมาดูกันเลย
ทำความรู้จัก Swing Trade คืออะไร
Swing Trade คือ กลยุทธ์การเทรดแบบ Active ที่ใช้เครื่องมือทางเทคนิคเพื่อหาจังหวะในการซื้อขายโดยคาดหวังผลกำไรเป็นก้อนในระยะสั้นถึงกลาง
ปกติแล้วการเทรดแบบ Swing Trade มักมีการเทรดไม่บ่อยแต่เน้นการถือสถานะข้ามวันและอาจต้องมีการถือนานหลายสัปดาห์ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเฝ้าหาสัญญาณเทรดไปตลอดทั้งวันในแบบที่แม้แต่นักเทรดที่ทำงานประจำก็สามารถนำกลยุทธ์นี้ไปประยุกต์ใช้กับพอร์ตการลงทุนของตัวเองได้
การ Swing Trade มักใช้ประกอบกับการคำนวณ Risk Reward ที่มีการประเมินจุดเข้าทำรายการ (Entry), จุดทำกำไร (Exit) และจุดตัดขาดทุน (Stoploss) เพื่อให้นักเทรดสามารถคาดการณ์กำไรขาดทุน รวมถึงประเมินความคุ้มค่าของการเข้าทำรายการแต่ละครั้งได้ด้วย กลยุทธ์ Swing Trade จึงได้รับความนิยมในฐานะที่ใช้ควบคุมและจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ดีอีกวิธีหนึ่ง
◆ ตัวอย่างของ Swing Trade
ตัวอย่างการ Swing Trade ในกรอบชาแนลของคู่เงิน USDJPY ในระดับ Timeframe 4H ที่ราคาเคลื่อนไหวในกรอบแนวโน้มขาขึ้น ซึ่งสามารถคาดหวังผลกำไรได้ราว 3% (ไม่รวมการใช้อัตราทด) ด้วยการถือสถานะในระดับ 1 – 2 สัปดาห์ และยังสามารถเทรดซ้ำในกรอบราคาได้จนกว่ารูปแบบราคาจะมีการเปลี่ยนแปลง
ข้อดีและข้อจำกัดของการเทรดแบบ Swing Trade
นอกจากการคำนึงถึงเงื่อนไขการเทรดที่เป็นการพิจารณาปัจจัยภายนอกแล้ว นักเทรดยังควรพิจารณาข้อดีและข้อเสียของการใช้ Swing Trade เพื่อดูถึงความเป็นไปได้ของโอกาสและลดข้อจำกัดของการเทรดของตัวเองลง
👍 ข้อดีของ Swing Trading
ไม่ต้องเฝ้าหน้าจอ
การเทรดแบบ Swing Trade มีการตัดสินใจซื้อขายไม่บ่อยและไม่จำเป็นต้องสังเกตการเปลี่ยนแปลงของราคาอย่างใกล้ชิดทำให้การเทรดมีความยืดหยุ่นด้านเวลา ในบางกลยุทธ์นักเทรดยังสามารถตั้งเงื่อนไขของการเทรด เช่น จุดเข้าซื้อ จุดออก รวมถึงจุดตัดขาดทุนไว้ล่วงหน้าได้แบบอัตโนมัติ
สามารถสร้างกำไรเป็นก้อนได้ในเวลาไม่นาน
การเทรดแบบ Swing Trade เน้นการสร้างผลกำไรเป็นก้อนโดยที่ไม่จำเป็นต้องรันเทรนเหมือนกลยุทธ์ Trend Following ทำให้ไม่ต้องนำเงินทุนไปจมไว้กับสินทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่งนาน ๆ
ใช้เครื่องมือน้อย
สามารถใช้เพียงเครื่องมือทางเทคนิค โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์พื้นฐานของสินทรัพย์ ทำให้นักเทรดที่เลือกใช้เครื่องมือทางเทคนิคเพียงอย่างเดียวก็สามารถเริ่มเทรดเพื่อทำกำไรได้อย่างมีประสิทธิภา
👎 ข้อเสียของ Swing Trade
มีความเสี่ยงของการถือสถานะข้ามวันหรือข้ามสัปดาห์
นับเป็นข้อเสียใหญ่ของกลยุทธ์ Swing Trade ที่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปก็อาจเกิดสถานการณ์ที่ส่งผลรุนแรงต่อราคาสินทรัพย์จนทำให้ราคากระโดดเปิดช่องว่าง และ Stoploss ไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรเป็น จนกลายเป็นผลขาดทุนที่มากกว่าที่คาดหมายตามมา
อาจทำให้เสียโอกาสสร้างกำไรในระยะยาว
เนื่องจากการ Swing Trade จะทำให้นักเทรดต้องทำการซื้อขายตามระบบ ซึ่งหากสินทรัพย์มีแนวโน้มที่แข็งแกร่ง เช่น เป็นแนวโน้มขาขึ้นที่รุนแรง จะทำให้ไม่สามารถซื้อกลับได้ และเสียโอกาสในการทำกำไรระยะยาวในสินทรัพย์ที่เติบโตได้ไป
คาดการณ์ระยะเวลาการถือสถานะได้ยาก
การ Swing Trade ใช้เครื่องมือทางเทคนิคเพื่อกำหนดจุดซื้อขาย ซึ่งมักจะใช้เป้าหมายทางราคาเป็นจุดออก (Exit) จากการถือสถานะ แต่จะไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาการถือสถานะได้อย่างแน่นอน ยกเว้นการตั้งจุดออก (Exit) เป็นแบบ Timestop
มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
เครื่องมือทางการเงินบางประเภทมีการเสียดอกเบี้ยสำหรับการถือสถานะข้ามคืน ซึ่งถือเป็นต้นทุนของการเทรดอีกชนิดหนึ่ง
ไม่เหมาะกับการเทรดในตลาดบางรูปแบบ
เช่น ปริมาณการซื้อขายเบาบาง มีแนวโน้มที่แข็งแกร่ง ฯลฯ นักเทรดจึงควรประเมินสภาพตลาดก่อนเลือกใช้กลยุทธ์ Swing Trade ด้วย
ความแตกต่างของรูปแบบการเทรด
▲ Swing Trading vs Scalping
Scalping เป็นกลยุทธ์การเก็งกำไรแบบใช้เวลาสั้นมาก ใช้เวลาไม่กี่นาทีในการปิดสถานะ เน้นหวังผลกำไรไม่กี่ช่อง แต่ทำซ้ำได้บ่อยครั้ง ซึ่งแม้ทั้งสองจะเป็นกลยุทธ์ที่ใช้เครื่องมือทางเทคนิคเหมือนกัน แต่ Scalping กับ Swing Trade ยังแตกต่างเรื่องระยะเวลาในการถือสถานะและผลกำไรที่คาดหวังที่ Swing Trade จะมีการถือสถานะนานกว่าและคาดหวังผลกำไรเป็นก้อนแทนที่จะเป็นการสะสมทีละน้อย ๆ เหมือนการ Scalping
▲ Swing Trading vs. Day Trading
Day Trading เป็นกลยุทธ์ที่มองกรอบการเทรดในวันโดยไม่มีการถือสถานะข้ามวัน ทั้ง Day Trading และ Swing Trade ก็มีการใช้เครื่องมือทางเทคนิคเข้ามาใช้กำหนดจุดซื้อขาย แต่ Swing Trade ก็มีกรอบเวลาการซื้อขายที่ยืดหยุ่นกว่า คือสามารถถือสถานะได้นานกว่าโดยไม่จำเป็นต้องรีบขายในวันเหมือน Day Trading
▲ Swing Trading vs. Trend Following
Trend Folloing เป็นกลยุทธ์การเทรดในระยะยาว ซึ่งอาจนำเครื่องมือทางเทคนิคมาใช้ประกอบการกำหนดจุดซื้อขาย หรือจะใช้การวิเคราะห์พื้นฐานเพื่อประกอบการซื้อขายก็ได้ กลยุทธ์รูปแบบนี้เน้นกินคำใหญ่และอาจมีการถือสถานะได้ยาวนานถึงหลายปี ซึ่งแตกต่างจาก Swing Trade ที่แม้คาดหวังผลกำไรเป็นก้อนคล้ายกัน แต่มีระยะการถือสถานะที่สั้นกว่ากันมาก
เทคนิคการใช้ Swing Trade
นักเทรดที่คร่ำหวอดในตลาดรู้ดีว่าไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับทุกสถานการณ์ การนำกลยุทธ์ Swing Trade ไปใช้ก็จำเป็นต้องคำนึงถึง 2 ปัจจัย เพื่อให้กลยุทธ์สามารถใช้งานได้เหมาะสมที่สุด
1. การเลือกสินทรัพย์ที่จะนำมาเทรด
การเลือกสินทรัพย์เป็นเงื่อนไขแรกที่จะทำให้การใช้ Swing Trade ประสบความสำเร็จ ซึ่งสินทรัพย์ที่เลือกใช้ควรมี
ปริมาณการซื้อขาย (Volume) สูง ปริมาณซื้อขายสูงทำให้การบ่งชี้ของเครื่องมือเทคนิคมีความแม่นยำและถูกบิดเบือนได้ยาก และยังทำให้ซื้อขายได้ง่ายแบบไม่เสียราคาอีกด้วย
ความผันผวนของราคา (Volatility) สูง สินทรัพย์ที่มีความผันผวนของราคาทำให้สามารถหาส่วนต่างการเทรดได้ง่าย ขณะที่สินทรัพย์ที่มีความผันผวนของราคาต่ำจะทำให้ช่วงของการทำกำไรมีน้อยและไม่เหมาะกับการ Swing Trade
2. การประเมินสภาวะตลาดสินทรัพย์ที่จะเทรด
ตลาดที่มีแนวโน้มชัดเจน เช่น การเป็นแนวโน้มขาขึ้นหรือขาลงอย่างแข็งแกร่ง เป็นสภาวะตลาดที่ไม่ควรใช้ Swing Trade เพราะจะทำให้เครื่องมือทางเทคนิคบ่งชี้ค่าผิดพลาด ในทางตรากันข้าม ตลาดที่ราคามีการเคลื่อนไหวในกรอบ หรือ ตลาดที่มีแนวโน้มแบบอ่อน ๆ ในแบบที่ราคามีการปรับฐานเป็นระยะ จะเป็นสภาวะของตลาดที่สามารถนำกลยุทธ์ Swing Trade ไปใช้ได้ง่ายและให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำได้ดี
การใช้ Swing Trade กับสินทรัพย์ชนิดต่าง ๆ
หลังจากเราได้ทำความรู้จักกับ Swing Trade กันไปแล้ว คราวนี้เราลองมาดูกันต่อเลยว่าการใช้ Swing Trade กับสินทรัพย์แต่ละประเภทเป็นอย่างไรกันบ้าง
▲ Swing Trade ในตลาดฟอเร็กซ์
ตลาดปริวรรตเงินตราถือเป็นตลาดที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุดในโลก ในแต่ละวันตลาดนี้จะมีปริมาณการซื้อขายสูงกว่า $5 ล้านล้าน และยังมีความผันผวนในกรอบซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เหมาะมากสำหรับการเทรดด้วยกลยุทธ์ Swing Trade ด้วยเครื่องมืออื่น ๆ เช่น ตราสารอนุพันธ์ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่กลยุทธ์นี้จะถูกนักเทรดมืออาชีพนำไปใช้เทรดฟอเร็กซ์คู่เงินสำคัญ ๆ อย่างแพร่หลาย
▲ Swing Trade ในตลาดหุ้น
การ Swing Trade เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมสำหรับการเทรดหุ้นเช่นกัน ซึ่งเงื่อนไขของการ Swing Trade จะเอื้อต่อการเทรดหุ้นขนาดใหญ่ (Big Cap) ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงและมีความผันผวนให้สามารถเทรดเพื่อหวังผลกำไรได้ และค่อนข้างสะดวกด้วยการที่สามารถเลือกเครื่องมือสำหรับการ Swing Trade ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเทรดหุ้นโดยตรง การเทรดผ่านอนุพันธ์ รวมถึงการเทรดออปชั่น
▲ Swing Trade ในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์
สินค้าโภคภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสำหรับการเทรดมักจะเป็นสินค้าทองคำ และ น้ำมัน ซึ่งธรรมชาติของราคาสินค้าโภคภัณฑ์มักจะมีลักษณะเป็นวัฏจักร คือมีการขึ้นลงของราคาเป็นรอบ มีความผันผวนของราคาสูงและมีปริมาณการซื้อขายสูง ทำให้เป็นเงื่อนไขที่เหมาะสำหรับการ Swing Trade โดยที่สามารถทำได้ผ่านเครื่องมือหลักอย่าง ตราสารอนุพันธ์ เช่น สัญญาฟิวเจอร์ส หรือ CFD
▲ Swing Trade ในสกุลเงินดิจิทัล
สกุลเงินดิจิทัลเป็นสินทรัพย์น้องใหม่ที่สามารถนำกลยุทธ์ Swing Trade ไปใช้ได้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังในการเทรด เนื่องจากแม้สกุลเงินดิจิทัลส่วนใหญ่จะมีความผันผวนของราคาสูง แต่มีเพียงสกุลเงินดิจิทัลส่วนหนึ่งที่ได้รับความนิยมเท่านั้นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงเพียงพอสำหรับการเทรด เช่น Bitcoin Ethereum หรือ Binance Coin ฯลฯ
▲ Swing Trade ในดัชนี
ดัชนีเป็นตะกร้ารวมของสินทรัพย์หลาย ๆ ตัว เช่น ดัชนีที่รวมหุ้นเทคโนโลยี 100 ตัวในตลาดหุ้นอเมริกาไว้คือดัชนี Nasdaq, ดัชนีที่รวมหุ้นไทยขนาดใหญ่ 50 ตัวไว้ คือ SET50 ซึ่งดัชนีเหล่านี้มักมีสภาพคล่องสูง สะท้อนจากปริมาณซื้อขายในตลาดนั้น ๆ ทำให้สามารถนำมาใช้เป็นสินทรัพย์สำหรับ Swing Trade ได้ ด้วยการใช้เครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ เช่น ETF ตราสารอนุพันธ์ ฯลฯ อย่างไรก็ดี ดัชนีมักมีรูปแบบการเคลื่อนไหวหลากหลาย บางช่วงสามารถเป็นแนวโน้มที่แข็งแกร่งได้ การ Swing Trade บนดัชนีจึงควรประเมินสภาวะตลาดที่เป็นอยู่ก่อนเริ่มเทรดเช่นกัน
👇️👇️👇️ เทรด Forex หุ้น คริปโต สินค้า ดัชนี ฯลฯ ที่ยอดนิยมทั่วโลกมากกว่า 400 ชนิด อย่าพลาดโอกาสการเทรดที่ดีๆ
เครื่องมือสำหรับ Swing Trading
เครื่องมือที่นิยมนำมาใช้ประกอบการเทรดแบบ Swing Tade เป็นเครื่องมือทางเทคนิคที่ไม่ซับซ้อน ที่ช่วยให้สามารถกำหนดกรอบการเทรดได้
▲ แนวรับแนวต้าน (Support & Resistance)
แนวรับแนวต้าน เป็นเครื่องมือสำคัญของการวิเคราะห์เชิงเทคนิคที่ใช้คาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงราคาเมื่อราคาวิ่งเข้าสู่โซนทำรายการ (อ่านเพิ่มเติม คลิก) โดยมองว่าเมื่อราคาวิ่งชนแนวรับ (Support) ราคามีแนวโน้มรีบาวน์กลับ หรือหากราคาวิ่งชนแนวต้าน (Resistance) ก็มีแนวโน้มที่จะปรับฐานลงมา ทำให้ช่วงแนวรับแนวต้านนี้สามารถนำมาใช้เป็นโซนทำรายการของการ Swing Trade ได้
การหาแนวรับแนวต้านทำได้หลายรูปแบบ เช่น การใช้เส้นแนวโน้ม (Trendline), หรือ การใช้ช่องว่างราคา (Price Gap) เป็นต้น
▲ Fibonacci Retracements
Fibonacci Retracement เป็นเครื่องมือที่นำสัดส่วนทองคำ (Golden Ratio) มาประยุกต์ใช้กับรูปแบบการปรับฐานของราคาสินทรัพย์ โดยมองว่าเมื่อราคามีการดีดตัวจะไม่ได้วิ่งไปในทิศทางเดียว แต่จะมีการปรับฐานประกอบเสมอ ๆ และสัดส่วนที่ราคาจะมีการปรับฐานมักเป็นสัดส่วน 23.6%, 38.2%, และ 61.8% ซึ่งนักเทรดสามารถวางจุดเหล่านี้เป็นจุดเข้าทำรายการ (Entry) สำหรับการ Swing Trade ได้ และกำหนดจุดออก (Exit) เมื่อราคาถึงเป้าหมาย
การใช้ Fibonacci Retracement ในการหากรอบ Swing Trade ทำได้โดยใช้เครื่องมือ Fibonacci ต่าง ๆ วางช่วงราคาจากจุดต่ำสุดไปถึงจุดสูงสุด และสังเกตการปรับฐานในช่วงราคาที่กำหนดไว้
▲ รูปแบบราคา (Price Pattern)
รูปแบบราคาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่นำรูปแบบการเคลื่อนที่ของราคาในช่วงเวลาที่ผ่านมาเพื่อคาดการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (อ่านเพิ่มเติม คลิก) โดยมีสมมติฐานว่าการเคลื่อนไหวของราคาจะเกิดขึ้นในรูปแบบซ้ำ ๆ และจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทำให้นักเทรดสามารถนำรูปแบบราคามาจังจังหวะหาจุดซื้อขายสำหรับกลยุทธ์ Swing Trade ได้
รูปแบบราคาที่เหมาะสำหรับการใช้ประกอบ Swing Trade คือรูปแบบราคาที่มีลักษณะเคลื่อนที่ในกรอบราคา เช่น การเทรดในกรอบรูปลิ่ม (Wedges) หรือ ธง (Pennant or flags) ซึ่งรูปแบบราคาเหล่านี้มักเป็นการฟอร์มตัวก่อนที่จะเกิดแนวโน้มที่แข็งแกร่งต่อไป การนำรูปแบบราคาไปใช้สำหรับ Swing Trade จึงจำเป็นต้องกำหนดจุดตัดขาดทุน (Stoploss) เพื่อป้องกันการผิดทางประกอบด้วยเสมอ
Swing Trading Indicator
นอกจากเครื่องมือด้านราคาแล้ว อินดิเคเตอร์ยังเป็นเครื่องมือทางเทคนิคยอดนิยมอีกประเภทหนึ่งที่นักเทรดนิยมนำมาใช้ประกอบ Swing Trade ซึ่งมีข้อได้เปรียบจากการวิเคราะห์ด้านราคาเพียงอย่างเดียว เพราะอินดิเคเตอร์มีการนำสมการทางคณิตศาสตร์ร่วมกับข้อมูลด้านปริมาณมาวิเคราะห์เพื่อหาข้อบ่งชี้และคาดการณ์แนวโน้มราคาในอนาคต
▲ เส้นค่าเฉลี่ย (Moving Average – MA)
เส้นค่าเฉลี่ย (Moving Agerage) เป็นการนำราคาย้อนหลังมาหาค่าเฉลี่ยเพื่อดูว่าราคาที่กำลังเกิดขึ้นมากกว่าหรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติม คลิก) สามารถนำไปใช้ในการดูแนวโน้ม หรือ หาแนวรับแนวต้าน เพื่อประกอบการเทรดได้ ซึ่งเส้นค่าเฉลี่ยที่นิยมใช้มี 2 รูปแบบคือ
Simple Moving Agerage (SMA) เป็นการนำราคามาหาค่าเฉลี่ยย้อนหลังด้วยน้ำหนักเท่า ๆ กัน ทำให้ได้ค่าที่ค่อนข้างสมูธ แต่ค่อนข้างตอบสนองช้าต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาล่าสุด
Exponential Moving Average (EMA) เป็นการนำราคามาหาค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก โดยให้น้ำหนักกับราคาที่เกิดขึ้นล่าสุดมากกว่าราคาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ทำให้ค่อนข้างตอบสนองได้ดีต่อราคาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
เส้นค่าเฉลี่ยสามารถนำมาใช้ประกอบ Swing Trade ได้ด้วยการนำมาใช้เป็นแนวรับแนวต้าน สำหรับการกำหนดจุดซื้อขายได้
▲ ปริมาณการซื้อขาย (Volume)
ปริมาณการซื้อขายเป็นข้อมูลสำคัญที่ถูกนำมาใช้ประกอบในอินดิเคเตอร์ เช่น OBV หรือ Volume Profile ที่สามารถนำมาใช้ดูความแข็งแกร่งของแนวโน้ม (Momentum) และหาแนวรับแนวต้านสำหรับการเทรดได้ นั่นคือ
หากการเคลื่อนไปของราคามีการสนับสนุนด้วยปริมาณซื้อขายจำนวนมาก แนวโน้มนั้นมีโอกาสที่จะดำเนินไปอย่างแข็งแกร่ง และไม่ค่อยเหมาะสำหรับการ Swing Trade
หากการเคลื่อนไปของราคาที่เป็นแนวโน้มเริ่มขัดแย้งกับปริมาณการซื้อขายที่ลดลง มีโอกาสที่จะเกิดการปรับฐานของราคา และเป็นจุดเข้าทำรายการที่ดีสำหรับการ Swing Trade
▲ Relative Strength Index – RSI
Relative Strenght Index หรือ RSI เป็นอีกหนึ่งอินดิเคเตอร์ยอดนิยมของนักเทรดทั่วโลก เป็นอินดิเคเตอร์ในกลุ่มที่ใช้ดูความแข็งแกร่งของแนวโน้ม (Momentum) ด้วยการบอกสภาวะซื้อมากเกินไป (Overbought) หรือ ขายมากเกินไป (Oversold) ซึ่งเป็นโซนที่ราคามีแนวโน้มที่จะถูกดึงกลับหรือปรับฐาน
ในสินทรัพย์ที่แนวโน้มไม่แข็งแกร่ง จะสามารถนำ RSI ไปใช้ประกอบการ Swing Trade ได้ด้วยการบอกจุดเข้าซื้อและจุดขาย นั่นคือ ซื้อ เมื่อมีสัญญาณขายมากเกินไป และ ขายในจุดที่มีภาวะซื้อมากเกินไป ประกอบการตั้งจุดตัดขาดทุนไว้นั่นเอง แต่อินดิเคเตอร์ตัวนี้จะไม่สามารถใช้ประกอบ Swing Trade ได้ในภาวะที่มีแนวโน้มแข็งแกร่ง เนื่องจากภาวะเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้เป็นเวลานานและทำให้ราคาทะลุกรอบที่ใช้ Swing Trade ได้ (อ่านเพิ่มเติม คลิก)
▲ Stochastic Oscillator
Stochastic Oscillator เป็นกลุ่มอินดิเคเตอร์ที่มีลักษณะการบอกค่าในช่วง เช่น จาก 0 – 100 และสามารถนำมาช่วยบอกความแข็งแกร่งของแนวโน้มได้คล้าย ๆ กับ RSI อินดิเคเตอร์ในกลุ่มนี้เช่น William%Range สามารถนำมาใช้บอกช่วงของราคาที่เกิดภาวะซื้อมากเกินไป (Overbought) หรือขายมากเกิน (Oversold) ไปได้
การใช้อินดิเคเตอร์ในกลุ่ม Stocastice Oscillator ประกอบการเทรดแบบ Swing Trade จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะสินทรัพย์ที่แนวโน้มราคาเป็นไปแบบอ่อนและไม่มีแนวโน้มที่แข็งแรงที่อาจทำให้อินดิเคเตอร์บ่งชี้ค่าผิดไปจากที่ควรเป็น ทำได้ด้วยการเข้าซื้อที่โซนขายมากเกินไปและขายเมื่ออินดิเคเตอร์แสดงโซนที่เป็นภาวะซื้อมากเกินไป โดยตั้งจุดตัดขาดทุนประกอบไว้ทุกครั้ง
▲ Bollinger Band
Bollinger Band หรือ BB เป็นอินดิเคเตอร์ที่สามารถบ่งบอกความผันผวนของราคาได้ ด้วยการนำส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ซึ่งโดยปกติจะใช้ +/-2SD ร่วมกับเส้นค่าเฉลี่ย โดยมีแนวคิดว่าเมื่อราคาเบี่ยงเบนออกจากค่าเฉลี่ยไม่เกิน 2SD ก็มีแนวโน้มที่จะเบี่ยงตัวกลับสู่ค่าเฉลี่ย ทำให้เส้น BB ตัวบน (+2SD) ถูกนำมาใช้เป็นแนวต้าน และเส้น BB ตัวล่าง (-2SD) ถูกนำมาใช้เป็นแนวรับสำหรับการเทรดแบบ Swing Trade ได้
อย่างไรก็ดี การใช้ Bollinger Band ประกอบการ Swing Trade ก็มีข้อควรระวังที่เมื่อการเคลื่อนที่ของราคามีความผันผวนน้อยลง ทำให้กรอบ BB เริ่มบีบแคบ การเปลี่ยนแปลงสู่แนวโน้มที่แข็งแกร่งจนทะลุกรอบ BB ออกไปได้ และการฝืน Swing Trade ในกรอบ BB จะทำให้เกิดการขาดทุนตามมาได้ จึงไม่ควรใช้อินดิเคเตอร์ตัวนี้เทรดเมื่อราคาเริ่มมีแนวโน้มที่แข็งแกร่ง และควรตั้งจุดตัดขาดทุนประกอบด้วยทุกครั้ง
▲ Ease of Movement - EOM
Ease of Movement เป็นอินดิเคเตอร์อีกตัวหนึ่งในกลุ่ม Stochastic Oscillator ที่นำปริมาณการซื้อขายมาร่วมคำนวณด้วย ซึ่งอินดิเคเตอร์ตัวนี้จะคอยบอกความสัมพันธ์ระหว่างราคาและปริมาณการซื้อขายในเชิงที่ว่าแนวโน้มของราคาเคลื่อนตัวโดยมีแรงต้านมากน้อยเพียงใด แล้วนำมาคำนวณเป็นค่าบวกลบที่มี Cental Line = 0
การบอกจุดซื้อขายอย่างง่ายคือเมื่อ EOM เคลื่อนตัวต่ำกว่า Central Line ให้ค่าที่ออกมาเป็นลบมาก ๆ ซึ่งบอกภาวะขายมากเกินไปอย่างสุดขั้ว จะเป็นจุดที่ดีสำหรับการเข้าซื้อ ในอีกด้านหนึ่งหาก EOMเคลื่อนตัวสูงกว่า Central Line คือให้ค่าเป็นบวกมาก ๆ ซึ่งบอกถึงภาวะซื้อมากเกินไปก็จะเป็นจุดขายที่ดีสำหรับการขายในกลยุทธ์ Swing Trade
Trade Setup ตัวอย่างสำหรับการ Swing Trade
หลังจากที่เราทำความรู้จักกับเครื่องมือทั้งด้านราคาและอินดิเคเตอร์ที่สามารถนำมาใช้กับ Swing Trade ได้ไปแล้ว แต่การใช้เครื่องมือเพียงตัวใดตัวหนึ่งเพื่อบอกจุดซื้อขายนั้นไม่เพียงพอและอาจเกิดความคลาดเคลื่อนจนเกิดเป็นผลขาดทุนจำนวนมากได้ คราวนี้เราจึงจะมาลองสร้าง Trade Setup ที่นำเครื่องมือหลาย ๆ ตัวมาประกอบกันเพื่อใช้ในกลยุทธ์ Swing Trade ให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
EMA + MACD |
EMA เป็นเครื่องมือพื้นฐานสำหรับนักเทรดที่ติดตั้งและอ่านค่าได้ง่าย การ Swing Trade นิยมนำ EMA มาใช้เป็นแนวรับแนวต้านอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อกำหนดจุดเข้าทำรายการ (Entry) แต่อินดิเคเตอร์ตัวนี้จะไม่สามารถบอกจุดทำกำไร (Exit) ได้ ดังนั้นใน Trade Setup นี้เราจะลองนำ EMA มาเป็นตัวกำหนดจุดเข้าทำรายการ และใช้ MACD เพื่อหาจุดทำกำไร (Exit) เมื่อแนวโน้มราคาเริ่มมีความอ่อนตัวลง
ขั้นตอนที่ 1: หาแนวโน้มเพื่อกำหนดกลยุทธ์ว่าการซื้อหรือขายจะได้เปรียบกว่า
การหาแนวโน้มทำได้โดยสังเกตว่าราคากำลังเคลื่อนอยู่เหนือกว่าหรือต่ำกว่า EMA
ถ้าราคา > EMA แสดงว่าแนวโน้มราคากำลังเป็นขาขึ้น การ Long หรือ ซื้อ จะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกว่า
ถ้าราคา < EMA แสดงว่าแนวโน้มราคากำลังเป็นขาลง การ Short หรือ ขาย จะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกว่า
ขั้นตอนที่ 2: สังเกตการเป็นแนวรับแนวต้านของ EMA
EMA ที่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้เป็นแนวรับแนวต้านในการ Swing Trade ไม่ได้ระบุไว้ตายตัวว่าต้องใช้ EMA ที่ค่าเท่าไหร่ แต่นักเทรดสามารถเลือกค่าที่เหมาะสมได้เอง โดย EMA ที่เหมาะสมสำหรับการเป็นแนวรับแนวต้านที่แข็งแกร่งควรจะมีการทดสอบมาก่อนหน้าแล้วหลายครั้ง จึงสามารถนำไปใช้ได้ โดยที่
หากแนวโน้มราคากำลังเป็นขาขึ้น การใช้ EMA สำหรับ Swing Trade จะใช้เป็นแนวรับเพื่อกำหนดจุดเข้าซื้อ
หากแนวโน้มราคากำลังเป็นขาลง จะใช้ EMA เป็นแนวต้านเพื่อกำหนดจุดขาย
ขั้นตอนที่ 3: เลือกจุดเข้าทำรายการ (Entry) และกำหนดจุดตัดขาดทุน (Stoploss)
จุดเข้าทำรายการจะเกิดขึ้นเมื่อราคามีการทดสอบเส้น EMA ไปแล้วสองถึงสามครั้ง จากนั้นจึงใช้จุดถัดไปเป็นแนวรับแนวต้านสำหรับการเข้าทำรายการ (Entry) และกำหนดจุดตัดขาดทุน (Stoploss) ไว้ด้วยเครื่องมืออื่น ๆ หรือคำนวณจากเปอร์เซนต์การขาดทุนที่รับได้
ขั้นตอนที่ 4: กำหนดจุดทำกำไร (Exit)
จุดทำกำไรของ Trade Setup กลยุทธ์ Swing trade นี้จะเกิดขึ้นเมื่อ MACD เริ่มแสดงสัญญาณแนวโน้มที่อ่อนแอลง คือเริ่มตัดเส้น Signal ขึ้นในแนวโน้มขาลง หรือ ตัดเส้น Signal ลงในแนวโน้มขาขึ้น เป็นจุดที่นักลงทุนใช้ทำกำไร (Exit) ได้
※ตัวอย่าง: การเทรด USD/JPY
เครื่องมือที่ใช้: EMA(75), MACD(12, 26, 9)
Timeframe: 15mins
สังเกตเมื่อราคาเริ่มแกว่งตัวใกล้เส้น EMA(75) และเริ่มปรับตัวต่ำกว่าเส้น EMA แนวโน้มราคาเริ่มเป็นขาลง
การทดสอบช่วงแรก EMA จะยังไม่สามารถเป็นแนวต้านที่แข็งแรงได้ ให้รอจนกว่าราคาเริ่มตอบสนองต่อ EMA ที่เป็นแนวต้านด้วยการชนแล้วไม่ผ่าน 2 – 3 ครั้ง
การปรับตัวขึ้นชนเส้น EMA อีกครั้งเป็นจุดทำรายการ (Entry) โดยการขาย หรือ Short และตั้งจุดตัดขาดทุน (Stoploss) ประกอบที่จุดสูง (Lower High) ก่อนหน้า
หาจุดทำกำไรที่ MACD ตัด Signal ขึ้น เป็นจุดขายทำกำไร แล้วรอสัญญาณการเข้าทำรายการในรอบต่อไป
Double Bollinger Band |
Double Bollinger Band ใช้อินดิเคเตอร์ Bollinger Band ที่ปรับค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) ที่ต่างกันมาเป็นส่วนที่บอกโซนให้สัญญาณ (Signal) และบ่งชี้จุดเข้าทำรายการ (Action) โดยการเคลื่อนที่ของราคาในแนวโน้มที่ไม่ได้แข็งแรงมากจะมีการเหวี่ยงตัวในกรอบ ๆ หนึ่งซึ่งมีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) น้อยกว่า แต่เมื่อราคาเริ่มเบี่ยงเบนหลุดกรอบนั้นออกไปในโซนที่ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) มากขึ้นจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติและมีแนวโน้มเหวี่ยงตัวกลับ ซึ่งเป็นจุดเตือนให้นักเทรดสามารถทำรายการได้ซื้อขายได้
ขั้นตอนที่ 1: หาแนวโน้มเพื่อกำหนดกลยุทธ์ว่าการซื้อหรือขายจะได้เปรียบกว่า
การหาแนวโน้มทำได้โดยสังเกตว่าราคากำลังเคลื่อนอยู่เหนือกว่าหรือต่ำกว่าจุดกึ่งกลางของ Bollinger Band ซึ่งก็คือเส้นค่าเฉลี่ยทั่วไป (SMA)
ถ้าราคา > SMA และเคลื่อนตัวอยู่ในกรอบบนของ BB แสดงว่าแนวโน้มราคากำลังเป็นขาขึ้น การ Long หรือ ซื้อ จะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกว่า
ถ้าราคา < SMA และเคลื่อนตัวอยู่ในกรอบล่างของ BB แสดงว่าแนวโน้มราคากำลังเป็นขาลง การ Short หรือ ขาย จะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกว่า
ขั้นตอนที่ 2: สังเกตการเคลื่อนที่ของราคาในกรอบของ Bollinger Band
ราคาปกติจะเคลื่อนตัวอยู่ในกรอบ BB(1.5) หากราคาเริ่มเบี่ยงตัวออกนอกกรอบ BB(1.5) เข้าเขต BB(2.5) นับเป็นสัญญาณแรกให้ติดตาม แต่จุดปะทะของราคาและขอบของ BB(2.5) ไม่ใช่จุดทำรายการที่ดี เพราะยังมีโอกาสที่ราคาจะทะลุกรอบ BB(2.5) ออกไป
หากราคาเคลื่อนตัวชนกรอบบนของ BB(2.5) และเริ่มวกกลับลงมา เป็นจุดสังเกตแรกของของการขาย
หากราคาเคลื่อนตัวชนกรอบล่างของ BB(2.5) และเริ่มวกกลับขึ้นมา เป็นจุดสังเกตแรกของการซื้อ
ขั้นตอนที่ 3: เลือกจุดเข้าทำรายการ (Entry) และกำหนดจุดตัดขาดทุน (Stoploss)
เมื่อราคาเหวี่ยงตัวจากขอบ BB(2.5) กลับเข้ามาในกรอบ BB(1.5) ด้วยสัญญาณแท่งเทียนยาวเต็มแท่งที่แสดงถึงแรงเหวี่ยงตัวกลับที่แข็งแกร่ง ที่ราคาปิดของแท่งเทียนนั้นเป็นจุดเข้าทำรายการ (Entry) และกำหนดจุดตัดขาดทุน (Stoploss) ที่จุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดของแท่งเทียนที่สั่งทำรายการนั้น ๆ
เมื่อราคาชนกรอบบนของ BB(2.5) และเหวี่ยงกลับเข้ามาในโซน BB(1.5) ด้วยแท่งเทียนแดงเต็มแท่ง ที่ราคาปิดของแท่งเทียนนั้นเป็นจุด ขาย และจุดสูงสุดของแท่งเทียนนั้น เป็นจุดตัดขาดทุน
เมื่อราคาชนกรอบล่างของ BB(2.5) และเหวี่ยงกลับเข้ามาในโซน BB(1.5) ด้วยแท่งเทียนเขียวเต็มแท่ง ที่ราคาปิดของแท่งเทียนนั้นเป็นจุด ซื้อ และจุดต่ำสุดของแท่งเทียนนั้น เป็นจุดตัดขาดทุน
ขั้นตอนที่ 4: กำหนดจุดทำกำไร (Exit)
จุดทำกำไรเกิดขึ้นเมื่อมีแท่งเทียนปิดผ่านเส้นค่าเฉลี่ยกลับมาได้อีกครั้ง นั่นคือ
หากราคากำลังเป็นขาขึ้น เมื่อมีแท่งเทียนแรกที่ปิดหลุดเส้นค่าเฉลี่ยลงมาได้เต็มแท่งซึ่งแสดงถึงราคาเริ่มเปลี่ยนเป็นขาลง ให้ใช้ราคาปิดของแท่งเทียนนั้นเป็นจุดทำกำไร (Exit)
หากราคากำลังเป็นขาลง เมื่อมีแท่งเทียนแรกที่ปิดทะลุเส้นค่าเฉลี่ยขึ้นมาได้เต็มแท่งซึ่งแสดงถึงราคาเริ่มเปลี่ยนเป็นขาขึ้น ใช้ราคาปิดของแท่งเทียนนั้นเป็นจุดทำกำไร (Exit)
ตัวอย่าง: การเทรด AUS200
เครื่องมือที่ใช้: BB(20,1.5), BB(20,2.5)
Timeframe: 1Hour
○ Swing Trade ขาลง
เมื่อราคาแตะกรอบบนของ BB(2.5) และเริ่มวกกลับมาในโซน BB(1.5) ด้วยแท่งเทียนสีแดงยาวเต็มแท่ง ที่ราคาปิดของแท่งเทียนนั้นเป็นจุด ขาย และวางจุดตัดขาดทุนไว้ที่จุดสูงสุดของแท่งเทียนนั้น
ทำกำไรเมื่อมีแท่งเทียนปิดเหนือเส้นค่าเฉลี่ยขึ้นมาได้ ที่ราคาปิดของแท่งเทียนนั้นเป็นจุดทำกำไร
○ Swing Trade ขาขึ้น
เมื่อราคาแตะกรอบล่างของ BB(2.5) และเริ่มวกกลับมาในโซน BB(1.5) ด้วยแท่งเทียนสีเขียวยาวเต็มแท่ง ที่ราคาปิดของแท่งเทียนนั้นเป็นจุด ซื้อ และวางจุดตัดขาดทุนไว้ที่จุดต่ำสุดของแท่งเทียนนั้น
ทำกำไรเมื่อมีแท่งเทียนปิดต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยลงมาได้ ที่ราคาปิดของแท่งเทียนนั้นเป็นจุดทำกำไร
สรุป
และทั้งหมดนี้ก็คือการตอบคำถามที่ว่า Swing Trade คืออะไร รวมถึงได้บอกเล่าแนวทางการนำเครื่องมือต่าง ๆ ไปใช้เพื่อให้ได้ Trade Setup ที่สามารถช่วยผลักดันให้กลยุทธ์ Swing Trade สามารถนำไปทำกำไรได้ ซึ่งแน่นอนว่าเหล่านี้เป็นเพียงแนวทางหนึ่งที่ไม่ว่าใครก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ ปรับเปลี่ยนเครื่องมือ เพื่อให้ได้ระบบเทรดที่เหมาะกับตัวเองสำหรับการ Swing Trade ได้ในที่สุด
Swing trading ทำกำไรได้จริงหรือไม่?
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน