อุปสงค์ อุปทาน คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไรต่อการลงทุน
อุปสงค์ อุปทานเป็นพื้นฐานสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์เพราะเป็นแนวคิดเบื้องต้นของการกำหนดราคาอันนำไปสู่ทฤษฎีและแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์อีกมากมาย ทั้งยังเป็นแนวคิดที่ช่วยอธิบายการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในตลาดเพื่อคาดการณ์ราคาในอนาคต แต่อุปสงค์ อุปทานคืออะไร? เกี่ยวข้องอย่างไรกับการกำหนดราคา และสำหรับนักลงทุนแล้วจะสามารนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ได้อย่างไร คราวนี้เราจะมาอธิบายเรื่องนี้กัน
อุปสงค์ อุปทาน คืออะไร
อุปสงค์ อุปทาน คือ ความต้องการซื้อและความต้องการขาย ซึ่งอาจฟังเข้าใจได้ไม่ง่ายนัก เราอาจต้องมาลงรายละเอียดของสองคำนี้กัน แล้วนำไปสู่บทสรุปที่ว่าอุปสงค์และอุปทานสามารถกำหนดราคาดุลยภาพในตลาดได้อย่างไร
1. อุปสงค์ (Demand)
อุปสงค์ คือ ความต้องการซื้อสินค้าหรือบริการที่ระดับราคาต่าง ๆ เมื่อนำความต้องการซื้อนี้มาพล็อตเป็นความสัมพันธ์ระหว่างราคาและปริมาณที่เกิดขึ้นจะได้เป็นเส้นอุปสงค์ (Demand Curve) ที่แต่ละจุดบนเส้นอุปสงค์สามารถบอกถึงปริมาณสินค้าที่ผู้ซื้อต้องการที่ระดับราคาหนึ่ง ๆ ในอีกด้านก็สามารถแสดงราคาสูงสุดที่ผู้บริโภคยอมจ่ายเพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการในปริมาณหนึ่ง ๆ เช่นกัน
▲ กฎของอุปสงค์
อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณและราคาของอุปสงค์ ที่กล่าวไว้ว่าความต้องการซื้อสินค้าและบริการจะมีความสัมพันธ์แบบผกผันกับราคาเสมอ นั่นคือหากราคาปรับเพิ่มสูงขึ้น ความต้องการซื้อ (ปริมาณ) จะลดลง ในทางตรงกันข้าม หากราคาปรับตัวลดลง ความต้องการซื้อ (ปริมาณ) จะเพิ่มขึ้น
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเปลี่ยนแปลงของราคามีผลอุปสงค์ใน 2 ทาง คือ
ผลทางรายได้ (Income Effect) เมื่อราคาสินค้าเปลี่ยนไป ส่งผลให้มูลค่าเงินที่แท้จริงในกระเป๋าผู้ซื้อเปลี่ยนไป เช่น หากราคาสินค้าลดลง ส่งผลให้มูลค่าเงินแท้จริงในกระเป๋าผู้ซื้อเพิ่มขึ้น (เหลือเงินมากขึ้น) ส่งผลให้สามารถซื้อสินค้าได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น
ผลทางการทดแทน (Substitution Effect) เมื่อราคาสินค้าเปลี่ยนไป ส่งผลให้เกิดการเปรียบเทียบกับสินค้าอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียง (สินค้าทดแทน) เช่น หากราคาสินค้าลดลง ทำให้คนที่เคยใช้สินค้าอื่นที่ใกล้เคียงเปลี่ยนมาซื้อสินค้านี้ในปริมาณเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาถูกลงโดยเปรียบเทียบ
▲ ปัจจัยกำหนดอุปสงค์
ราคา
รายได้
ราคาสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง
รสนิยมของผู้ซื้อ
จำนวนผู้บริโภค
การคาดคะเนราคาในอนาคต
2. อุปทาน (Supply)
อุปทาน คือ ความต้องการขายสินค้าหรือบริการที่ระดับราคาต่าง ๆ เมื่อนำความต้องการขายนี้มาพล็อตเป็นความสัมพันธ์ระหว่างราคาและปริมาณที่เกิดขึ้นจะได้เป็นเส้นอุปทาน (Supply Curve) ที่แต่ละจุดบนเส้นอุปทานสามารถบอกถึงปริมาณสินค้าที่ผู้ขายต้องการเสนอขายที่ระดับราคาหนึ่ง ๆ ในอีกด้านก็สามารถแสดงราคาต่ำสุดที่ผู้ขายยอมขายสินค้าปริมาณหนึ่ง ๆ ให้
▲ กฎของอุปทาน
อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณและราคาของอุปทาน ที่กล่าวไว้ว่าความต้องการขายสินค้าและบริการจะมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับราคาเสมอ นั่นคือหากราคาปรับเพิ่มสูงขึ้น ความต้องการขาย (ปริมาณ) จะเพิ่มขึ้นตาม ในทางตรงกันข้าม หากราคาปรับตัวลดลง ความต้องการขาย (ปริมาณ) จะลดลงด้วย
▲ ปัจจัยกำหนดอุปสงค์
ราคา
ต้นทุนการผลิตสินค้า
ราคาสินค้าอื่นที่ผู้ผลิตสามารถผลิตทดแทนได้
จำนวนคู่แข่งในตลาด
เทคโนโลยี
การคาดการณ์ราคาในอนาคต
3. ดุลยภาพ (Equilibrium)
ลำพังแค่อุปสงค์ที่บอกความต้องการซื้อ หรือ อุปทานที่บอกความต้องการขายไม่สามารถกำหนดราคาในตลาดได้ แต่ราคาซื้อขายที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในตลาดจะเกิดขึ้นที่ดุลยภาพ (Equilibrium) ณ จุดที่เส้นอุปสงค์และเส้นอุปทานตัดกัน ซึ่งราคาและปริมาณที่เกิดขึ้นบนจุดดุลยภาพนี้มีแนวโน้มที่จะไม่เปลี่ยนแปลงไป เพราะ
หากราคาปรับขึ้นจากราคาดุลยภาพเดิม จะทำให้ผู้ขายผลิตสินค้าออกมาขายมากขึ้น ขณะที่ราคาที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคลดปริมาณที่ต้องการซื้อลงจนเกิดเป็นสินค้าที่ผลิตเหลือคงคลัง และกดดันให้ราคาปรับตัวลงสู่ดุลยภาพในที่สุด
หากราคาปรับลงจากดุลยภาพเดิม จะทำให้ผู้ซื้อต้องการซื้อสินค้าในปริมาณเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ขายไม่ต้องการขายสินค้าปริมาณมากจะลดปริมาณเสนอขายลงจนทำให้สินค้าขาดแคลน และกดดันราคาให้ปรับตัวกลับขึ้นไปที่จุดดุลยภาพในที่สุด
ดังนั้นเราจะเห็นว่า ทั้งอุปสงค์ และ อุปทาน เป็นชิ้นส่วนสำคัญของการกำหนดราคาและปริมาณการซื้อขายสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ในตลาด ซึ่งหากเราสามารถคาดการณ์อุปสงค์และอุปทานได้ ก็จะสามารถคาดคะเน ราคา ที่เกิดขึ้นในตลาดได้ แนวคิดนี้จึงถูกนำมาใช้ในแวดวงการลงทุนเพื่อใช้การวิเคราะห์ราคาสินทรัพย์ด้วยเช่นกัน
อุปสงค์ อุปทาน กับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น
หุ้น หรือ สินทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ สามารถนับเป็นสินค้า จึงสามารถนำกฎของอุปสงค์และอุปทานมาใช้ประยุกต์เพื่อประเมินราคาที่ควรจะเป็นได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ทั้งในการวิเคราะห์เชิงพื้นฐานและเทคนิค
1. อุปสงค์ อุปทาน กับการวิเคราะห์เชิงพื้นฐาน
อย่างที่มีการพูดกันว่าการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นขับเคลื่อนด้วยแรงอุปสงค์อุปทาน เมื่อราคาหุ้นปรับตัวลงแสดงว่าอุปทานหรือแรงขายมีมาก ในทางตรงกันข้ามหากราคาหุ้นปรับขึ้นแสดงว่าอุปสงค์หรือแรงซื้อมีมาก
ในทางพื้นฐานไม่ได้มีมุมมองว่าอุปสงค์หรืออุปทานที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากตัวหุ้นเอง แต่เกิดจากความต้องการซื้อกิจการนั้น ๆ นั่นคือมองราคาหุ้นเป็นตัวแทนของมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) ของบริษัท และปัจจัยที่ส่งผลต่อการคาดการณ์ผลกำไรหรือมูลค่าของกิจการก็จะมีผลให้อุปสงค์หรืออุปทานเปลี่ยนไป และส่งผลให้ราคาหุ้นปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยกตัวอย่างเช่น การคาดการณ์ผลประกอบการณ์ในแต่ละไตรมาส การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐิกจที่จะส่งผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัท หรือการคาดการเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่จะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรในอนาคต
หากการคาดการณ์ในทางที่บริษัทเติบโต ฝั่งผู้ซื้อจะยินดีซื้อที่ราคาสูงขึ้นหรือในปริมาณที่มากขึ้น ขณะที่คนขายจะชะลอการขาย ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากการคาดการณ์ออกมาในทางที่ติดลบ ฝั่งผู้ซื้อจะชะลอการซื้อออกไป ขณะที่ผู้ขายจะยินดีลดราคาขายลงหรือยินดีขายที่ปริมาณมากขึ้น ทำให้ราคาหุ้นปรับลงในที่สุด
2. อุปสงค์ อุปทาน กับการวิเคราะห์เชิงเทคนิค
อุปสงค์อุปทาน ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายกับการอนุมานเป็นแรงซื้อและแรงขายในตลาด และถูกชี้วัดด้วยเครื่องมือที่แม่นยำขึ้นทางเทคนิค ที่นำตัวแปรทั้งด้านราคาและปริมาณมาวิเคราะห์เพื่อหาดุลยภาพของราคาที่มีแนวโน้มเป็นไปได้ หรือเรียกได้ว่าเป็นการพยายามคาดการณ์ราคาในอนาคต ด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น
1) การวิเคราะห์แท่งเทียน (Candle stick)
ถูกนำมาใช้ในรูปแบบของ Price Action เพื่อสังเกตแรงซื้อและแรงขายที่ปะทะกันอยู่ในแต่ละแท่งเทียน โดยหากแท่งเทียนที่เกิดขึ้นเป็นแท่งเทียนสีเขียว (ราคาปิดสูงกว่าราคาเปิด) แสดงว่าราคาหุ้นสามารถยืนได้ในระดับสูง สะท้อนว่าอุปสงค์หรือความต้องการซื้อมีแรงมาก และสามารถผลักดันราคาให้ปรับขึ้นต่อไปได้ ในทางตรงกันข้ามหากแท่งเทียนที่เกิดขึ้นเป็นแท่งเทียนสีแดง (ราคาปิดต่ำกว่าราคาเปิด) แสดงว่าราคาหุ้นไม่สามารถยืนได้ สะท้อนว่าอุปทานหรือแรงขายมีแรงมากและแท่งเทียนมีโอกาสที่จะปรับลงต่อไป แต่หากไม่เข้าเกณฑ์ทั้งสองคือแท่งเทียนเป็นโดจิที่ราคาเปิดและราคาปิดเท่ากัน แสดงว่าทั้งอุปสงค์และอุปทานมีแรงปะทะเท่า ๆ กันจนยังไม่สามารถบอกได้ว่าทางไหนจะชนะ ทำให้ราคามีแนวโน้มที่จะไม่ไปไหนจนกว่าจะมีปัจจัยอื่นเข้ามากระทบ
2) การประเมินแนวโน้มราคา (Market Trend)
สามารถนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดอุปสงค์อุปทานได้จากการเคลื่อนตัวของราคา (Price Chart) ที่หากราคายังทำจุดสูงใหม่เรื่อย ๆ แสดงว่าอุปสงค์หรือแรงซื้อยังคงมีกำลังมาก และราคามีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้นต่อ ในทางตรงกันข้ามหากราคาทำจุดต่ำสุดใหม่เรื่อย ๆ จะสะท้อนให้เห็นว่าอุปทานมีแรงมากและราคาจะยังปรับตัวลงเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอดุลยภาพใหม่ แต่หากราคามีการเคลื่อนไหวในกรอบ แสดงว่าทั้งอุปสงค์และอุปทานมีแรงเท่า ๆ กันทำให้ไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าราคาจะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางไหนต่อ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่เข้ามากระทบ
3) การหาแนวรับแนวต้าน (Support & Resistance)
การคาดคะเนแนวรับแนวต้านนำมาใช้วิเคราะห์อุปสงค์อุปทานเพื่อคาดการณ์แนวโน้มราคาได้จากการที่จุดที่เป็นแนวรับมักเป็นจุดที่มีอุปสงค์หรือแรงซื้อรอซื้ออยู่ ซึ่งอาจเป็นจุดที่นักลงทุนบางกลุ่มเชื่อว่าราคานั้นมีความสมเหตุสมผลและเป็นราคาที่น่าซื้อ ทำให้ราคาที่ปรับตัวลงมาจะไม่ปรับตัวลงไปต่ำกว่านี้และมีแนวโน้มที่จะกลับตัวขึ้นต่อไป ในทางตรงกันข้าม ที่แนวต้านมักเป็นจุดที่มีอุปทานหรือแรงขายรออยู่เนื่องจากเป็นจุดที่นักลงทุนมองว่าเป็นราคาที่เริ่มแพงและยินดีที่จะขายออกมา ทำให้ราคาไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อไปได้และมีแนวโน้มที่จะกลับตัวลงในที่สุด
ตัวอย่างการนำหลักอุปสงค์อุปทานมาใช้ในการจับจังหวะซื้อขายหุ้น
ตัวอย่างที่ได้รับความนิยมสำหรับการนำหลักอุปสงค์อุปทานมาใช้จับจังหวะซื้อขายหุ้นคือการใช้เทคนิค Demand Supply Zone ที่ใช้การประเมินแนวโน้มราคา (Market Trend) ในการมองหาจังหวะที่ราคาเริ่มเสียสมดุลและมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวเพื่อหาดุลยภาพใหม่ ในภาวะนี้ราคาจะเกิดการวิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือดิ่งลงอย่างรุนแรง ทำให้เกิดแท่งเทียนสีเขียวหรือสีแดงขนาดใหญ่ และปรับตัวไปในแนวโน้มนั้นจนกว่าจะพบดุลยภาพใหม่ที่ราคาจะเริ่มชะลอตัวลงแล้วกลับมาแกว่งตัวในกรอบอีกครั้ง
การประยุกต์ใช้ Demand Supply Zone ในการเทรดทำได้ 2 แบบ คือ การเทรดที่จุดกลับตัว และการเทรดตามแนวโน้ม
1. Demand Supply Zone กับการเทรดที่จุดกลับตัว (Reversal)
จุดกลับตัวของการเทรด Demand Supply Zone มักมาในรูปแบบการวิ่งของราคาที่แสดงถึงอุปสงค์หรืออุปทานส่วนเกินแล้วมีการพักตัวจากแรงปะทะทั้งสองที่เริ่มชะลอจนใกล้เคียงกัน จากนั้นราคาได้เปลี่ยนกลับทิศทางไปในทิศทางตรงกันข้ามจากปัจจัยใหม่ที่เข้ามากระทบ ทำให้แรงในฝั่งตรงกันข้ามกลับมามีแรงชนะ และเกิดการกลับตัว
1) การกลับตัวเป็นขาขึ้น Demand Zone Drop Base Rally (DBR)
เกิดจากมีส่วนเกินของอุปทานหรือมีความต้องการขายหุ้นเป็นจำนวนมากผลักดันให้ราคาดิ่งลงอย่างรวดเร็ว (Drop) แล้วเกิดการพักตัวจากแรงขายเริ่มชะลอเนื่องจากราคาต่ำลงพร้อมกับแรงซื้อที่เริ่มมีมากขึ้น ทำให้ราคาเริ่มแกว่งตัวในกรอบ (Base) เป็นการสร้างฐาน เมื่อมีปัจจัยอื่นเข้ามาทำให้แรงซื้อกลับมาชนะแรงขายได้ ราคาจะทะลุกรอบบนที่ทำไว้ แล้วกลับตัวเป็นขาขึ้น (Rally) ซึ่งนักเทรดสามารถเข้าทำรายการได้ที่จุดเบรคเอาท์ของกรอบการพักตัวพร้อมตั้งจุดตัดขาดทุน
2) การกลับตัวเป็นขาลง Supply Zone Rally Base Drop (RBD)
เกิดจากมีส่วนเกินของอุปสงค์หรือมีความต้องการซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากผลักดันให้ราคาวิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว (Rally) แล้วเกิดการพักตัวเนื่องจากแรงซื้อเริ่มชะลอที่ราคาสูงขึ้นพร้อมกับแรงขายที่เริ่มมีมากขึ้น ทำให้ราคาเริ่มแกว่งตัวในกรอบ (Base) เป็นการสร้างฐาน เมื่อมีปัจจัยอื่นเข้ามากระทบและทำให้แรงขายเริ่มชนะแรงซื้อ ราคาจะทะลุกรอบล่างที่ทำไว้แล้วกลับตัวเป็นขาลง (Drop) ซึ่งนักเทรดเข้าทำรายการได้ที่จุดเบรคเอาท์กรอบล่างของกรอบการพักตัวพร้อมตั้งจุดตัดขาดทุน
2. Demand Supply Zone กับการเทรดตามแนวโน้ม (Continuation)
แนวโน้มที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าการเกิดจุดกลับตัว นักเทรดจึงพบเจอกับสถานการณ์นี้ได้บ่อยกว่าการนำ Demand Supply Zone ไปใช้กับการเทรดเมื่อเกิดการเปลี่ยแปลงแนวโน้ม
การเทรด Demand Supply Zone ตามแนวโน้มเกิดขึ้นเมื่อมีการวิ่งของราคาที่แสดงถึงความไม่สมดุลของอุปสงค์หรืออุปทาน จากนั้นราคาเริ่มพักตัวในกรอบเนื่องจากเริ่มมีแรงในฝั่งตรงกันข้ามเข้ามา แต่เมื่อมีปัจจัยใหม่เข้ามาทำให้อุปสงค์หรืออุปทานในทิศทางเดิมกลับมาแข็งแรงและทลายกรอบพักตัวแล้ววิ่งต่อในทิศทางเดิมอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะพบดุลยภาพใหม่
1)การเคลื่อนตัวต่อเนื่องในแนวโน้มขาขึ้น Demand Zone Rally Base Rally (RBR)
เกิดจากมีส่วนเกินของอุปสงค์หรือมีความต้องการซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากผลักดันให้ราคาวิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว (Rally) จนราคาปรับสูงขึ้นที่ระดับหนึ่งและเริ่มมีนักลงทุนอีกกลุ่มยินดีเสนอขายหุ้นนั้นออกมา ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างแรงซื้อและแรงขายในกรอบ (Base) แต่เมื่อมีปัจจัยใหม่เข้ามากระทบที่เป็นข่าวดีต่าง ๆ ทำให้แรงซื้อกลับมาแข็งแรงขณะที่แรงขายชะลอลง ราคาจะเริ่มทะลุแนวต้านในกรอบที่เคยทำไว้แล้ววิ่งขึ้น (Rally) อีกครั้ง
2)การเคลื่อนตัวต่อเนื่องในแนวโน้มขาลง Supply Zone Drop Base Drop (DBD)
เกิดจากมีส่วนเกินของอุปทานหรือแรงขายหุ้นเป็นจำนวนมากผลักดันให้ราคาดิ่งลงอย่างรวดเร็ว (Drop) จนราคาปรับตัวต่ำลงไปที่จุดหนึ่งและเริ่มมีนักลงทุนอีกกลุ่มเริ่มเห็นโอกาสเข้าซื้อ ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างแรงซื้อและแรงขายในกรอบ (Base) แต่เมื่อมีปัจจัยใหม่เข้ามากระทบที่เป็นลบ ทำให้แรงขายกลับมาแข็งแรงขณะที่แรงซื้อชะลอลง ราคาจะเริ่มทะลุแนวรับในกรอบที่เคยทำไว้แล้วดิ่งลง (Drop) อีกครั้ง
สรุป
อุปสงค์ อุปทาน คือชิ้นส่วนสำคัญทั้งของนักเศรษฐศาสตร์ในการกำหนดปริมาณและราคาขาย เช่นเดียวกับนักเทรดและนักลงทุนที่สามารถนำชิ้นส่วนนี้มาประกอบการวิเคราะห์เพื่อประเมินและคาดการณ์แนวโน้มราคาได้ ซึ่งการเรียนรู้เรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องยากหากแต่จำเป็นต้องอาศัยการทดลองนำไปใช้และหมั่นศึกษาจากราคาสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นจริงเพื่อให้เห็นภาพได้มากที่สุด
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน