ในวงการการลงทุน ณ ตอนนี้ กองทุน SSF ดูเหมือนจะที่สนอกสนใจของใครหลาย ๆ คน ด้วยกองทุน SSF จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างไรและจะสามารถแทนที่กองทุน LTF ที่หมดสิทธิประโยชน์ทางภาษีตั้งแต่สิ้นปีที่แล้วได้ไหม
ก่อนที่เราจะแนะนำว่ากองทุน SSF คืออะไร? ต่างจาก LTF อย่างไร? เรามาทำความรู้จักกับกองทุน LTF กันเสียก่อน
กองทุน LTF คืออะไร
กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund) จัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้นโดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจูงใจ
กองทุน LTF มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
ตัวอย่างกองทุน LTF (ธนาคารกสิกรไทย)
● KS50LTF เป็นกองทุน LTF ที่เน้นการลงทุนหุ้นตามดัชนี SET50
● KMSLTF เป็นกองทุน LTF ที่เน้นการลงทุนหุ้นบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีแนวโน้มเติบโตดี
● K70LTF เป็นกองทุน LTF ที่เน้นการลงทุนหุ้นไม่เกิน 70% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยส่วนที่เหลือลงทุน ในตราสารหนี้
กองทุน LTF ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ เนื่องจากหุ้นมีโอกาสขาดทุนมากกว่าและหนักกว่าตราสารหนี้ โดยที่
● กองทุนแบบ passive (กองทุนดัชนี) จะทำผลตอบแทนล้อตามดัชนีที่อ้างอิง หากดัชนีวิ่งขึ้น ผลตอบแทนของกองทุนก็ขึ้นตาม หากดัชนีวิ่งลง ผลตอบแทนก็ดิ่งลงตาม
● กองทุนแบบ active (มีผู้จัดการกองทุน) ผลตอบแทนจะขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้จัดการกองทุน หากได้ผู้จัดการกองทุนฝีมือดี อาจได้รับผลตอบแทนสูงกว่าตลาด ในทางตรงกันข้าม หากได้ผู้จัดการกองทุนฝีมือไม่ดี อาจได้รับผลตอบแทนด้อยกว่าตลาด
กองทุน LTF ไม่กำหนดขั้นต่ำในการซื้อ (รายละเอียดแตกต่างกันตามแต่ละกองทุน) และไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี ปีไหนอยากใช้สิทธิลดหย่อนก็ค่อยซื้อได้ แต่ต้องถือครองอย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน มิฉะนั้น คุณอาจจะต้องจ่ายเงินปรับย้อนหลังก้อนโต
สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน LTF แบ่งเป็น 2 ส่วนดังนี้
● เงินลงทุนในกองทุน LTF สามารถใช้ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินและไม่เกิน 500,000 บาท
● กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน ไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ ยกเว้น กรณีที่ลงทุนเกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินหรือเกิน 500,000 บาท เมื่อขายคืนหน่วยลงทุนแล้วได้กำไร กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนในส่วนที่เกินมาดังกล่าวจะนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
เป็นที่น่าเสียดายว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน LTF ดังที่กล่าวข้างต้นสิ้นสุดลงแล้วตอนสิ้นปี 2562 แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไป กระทรวงการคลังได้ออกกองทุนแบบใหม่มาทดแทนกองทุน LTF ในชื่อ ”กองทุน SSF”
กองทุน SSF คืออะไร
กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Fund) มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมให้ประชาชนออมเงินในระยะยาวโดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจูงใจ
นโยบายการลงทุนของกองทุน SSF ไม่จำกัดอยู่เพียงหุ้นไทยเท่านั้น กองทุน SSF สามารถลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ดัชนี เป็นต้น โดยต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปีนับจากวันที่ซื้อแต่ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี
กองทุน SSF ไม่กำหนดขั้นต่ำ (รายละเอียดแตกต่างกันตามแต่ละกองทุน) โดยที่คุณสามารถใช้เงินลงทุนในกองทุน SSF หักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินและไม่เกิน 200,000 บาทและเมื่อรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท (ระยะเวลาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอยู่ที่ปี 2563 - 2567)
การลงทุนเพื่อการเกษียณอายุประกอบด้วย
● กองทุน RMF
● กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
● กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
● กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
● กองทุนการออมแห่งชาติ
● เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
นอกจากนั้นแล้ว กำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนก็ไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน
นอกเหนือจากกองทุน SSF แล้วยังมีกองทุน SSF Extra ที่ออกมาเพื่อช่วยพยุงตลาดหุ้นที่กำลังร่อแร่แบบสามวันสี่วันทรุด
กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (Super Saving Fund Extra Class) จะคล้ายคลึงกับกองทุน SSF แต่มีความแตกต่างตรงที่นโยบายการลงทุนของกองทุน SSF Extra จะเน้นการลงทุนหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน แถมมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วยการหักหย่อนลดภาษีได้สูงสุด 200,000 บาทเป็นพิเศษ ไม่รวมกับกองทุน SSF และการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ
ข้อสำคัญคือ กองทุน SSF Extra สามารถซื้อได้ภายในวันที่ 1 เมษายน - 30 มิถุนายน 2563 เท่านั้น พลาดแล้วพลาดเลย และสามารถใช้หักลดหย่อนภาษีในปี 2563 เท่านั้น
กองทุน SSF, SSF Extra กับ LTF ต่างกันตรงไหน
เพื่อให้คุณเห็นภาพความแตกต่างระหว่างสามกองทุนอย่างชัดเจน เราจึงทำการสรุปข้อมูลความแตกต่างของกองทุน SSF, SSF Extra กับ LTF ตามรายละเอียดด้านล่าง
รายละเอียด | SSF EXTRA | SSF | LTF |
ลดหย่อนภาษี | ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเงินได้พึงประเมิน | ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน | ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน |
ลดหย่อนสูงสุด | 200,000 บาท | 200,000 บาท | 500,000 บาท |
เงื่อนไขลดหย่อน | ไม่มี | นับรวม SSF และการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ไม่เกิน 500,000 บาท | ไม่มี |
ระยะเวลาถือครอง | 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ | 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ | 7 ปีปฏิทิน |
ปีใช้สิทธิลดหย่อนภาษี | ซื้อภายใน 1 เมษายน - 30 มิถุนายน 2563 | ซื้อภายในปี 2563 - 2567 | สิ้นสุด 2562 |
สินทรัพย์ลงทุน | หุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน | ลงทุนได้ทุกประเภทหลักทรัพย์ | หุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน |
จำนวนซื้อขั้นต่ำ | ไม่มี/ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี | ไม่มี/ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี | ไม่มี |
ที่มา: TISCOAdvisory
ตอนนี้คุณน่าจะพอเห็นความแตกต่างระหว่างกองทุน SSF Extra, SSF กับ LTF แล้ว หากคุณสนใจลงทุนในกองทุน SSF Extra หรือ SSF แต่ไม่รู้ว่าจะหาข้อมูลของแต่ละกองทุนได้จากที่ไหน ทางเรารวบรวมรายชื่อกองทุน SSF และ SSF Extra ที่เปิดจำหน่ายตอนนี้ให้คุณแล้ว
รายชื่อกองทุน SSF และกองทุน SSF Extra
กองทุน | SSF/SSF Extra | ประเภทกองทุน | ปันผล/ไม่ปันผล | บลจ. |
ONE-TCMSFF | SSF | กองทุนผสม | ไม่ปันผล | ONEAM |
ONE-TCMSFF-SSFX | SSF Extra | กองทุนผสม | ไม่ปันผล | ONEAM |
KFDIVSSF | SSF | กองทุนหุ้น | ปันผล | KrungsriAsset |
KFGBRANSSF | SSF | กองทุนหุ้น | ปันผล | KrungsriAsset |
KFENS50SSF | SSF | กองทุนหุ้น | ปันผล | KrungsriAsset |
KFCASHSSF | SSF | กองทุนตลาดเงิน | ไม่ปันผล | KrungsriAsset |
KFAFIXSSF | SSF | กองทุนตราสารหนี้ | ไม่ปันผล | KrungsriAsset |
KFHAPPYSSF | SSF | กองทุนผสม | ไม่ปันผล | KrungsriAsset |
KFS100SSFX | SSF Extra | กองทุนรวม | ปันผล | KrungsriAsset |
MTQ-SSF | SSF | กองทุนหุ้น | ปันผล | MFC |
MTF-SSF | SSF | กองทุนผสม | ปันผล | MFC |
MTQ-SSFX | SSF Extra | กองทุนหุ้น | ปันผล | MFC |
MTF-SSFX | SSF Extra | กองทุนผสม | ปันผล | MFC |
LHSMARTDSSF-SSF | SSF | กองทุนผสม | ปันผล | LHFUND |
LHSMARTDSSF-SSFX | SSF Extra | กองทุนผสม | ปันผล | LHFUND |
PRINCIPAL iPROBEN-SSF | SSF | กองทุนอสังหาริมทรัพย์ | ไม่ปันผล | PRINCIPAL |
PRINCIPAL TDIF-SSF | SSF | กองทุนหุ้น | ไม่ปันผล | PRINCIPAL |
PRINCIPAL SET50SSF-SSF | SSF | กองทุนหุ้น | ไม่ปันผล | PRINCIPAL |
PRINCIPAL SET50SSF-SSFX | SSF Extra | กองทุนหุ้น | ไม่ปันผล | PRINCIPAL |
UOBEQ-SSF | SSF | กองทุนหุ้น | ไม่ปันผล | UOBAM |
UOBEQ-SSFX | SSF Extra | กองทุนหุ้น | ไม่ปันผล | UOBAM |
KT70/30S-SSFX | SSF Extra | กองทุนผสม | ปันผล | KTBAM |
KTESGS-SSFX | SSF Extra | กองทุนหุ้น | ปันผล | KTBAM |
PHATRA SET50 ESG-SSFX | SSF | กองทุนหุ้น | ไม่ปันผล | PhatraAM |
SCBEQ-SSFX | SSF Extra | กองทุนหุ้น | ปันผล | SCBAM |
SCB70-SSFX | SSF Extra | กองทุนหุ้น | ปันผล | SCBAM |
SCBSET-SSFX | SSF Extra | กองทุนหุ้น | ปันผล | SCBAM |
T-ES-EQDSSFX | SSF Extra | กองทุนหุ้น | ปันผล | T-Fund |
K-SUPSTAR-SSFX | SSF Extra | กองทุนผสม | ปันผล | KAsset |
TEGSSF | SSF | กองทุนหุ้น | ไม่ปันผล | Tisco |
TEGSSEF | SSF Extra | กองทุนหุ้น | ไม่ปันผล | Tisco |
BEQSSF | SSF | กองทุนหุ้น | ไม่ปันผล | BBLAM |
ASP-SME-SSF | SSF | กองทุนหุ้น | ไม่ปันผล | ASSET PLUS |
ASP-SME-SSFX | SSF Extra | กองทุนหุ้น | ไม่ปันผล | ASSET PLUS |
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Wealthmagik.com
สรุป
ด้วยกองทุน LTF สิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 2562 ทำให้กองทุน SSF และ SSF Extra ถือเกิดขึ้น โดยที่
กองทุน SSF ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวโดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจูงใจ ตัวเลือกสินทรัพย์ลงทุนหลากหลายไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ หุ้น ตราสารหนี้ ดัชนี เป็นต้น โดยต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปีนับจากวันที่ซื้อเพื่อมิให้เสียสิทธิ์และจ่ายค่าปรับก้อนโตย้อนหลัง
กองทุน SSF Extra ออกแบบมาเพื่อพยุงตลาดหุ้นไทยที่อาการร่อแร่จากวิกฤต COVID-19 ที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลกโดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจูงใจ นโยบายการลงทุนคล้ายคลึงกับกองทุน LTF ซึ่งแตกต่างจากกองทุน SSF และสามารถซื้อในช่วงวันที่ 1 เมษายน - 30 มิถุนายน 2563 เท่านั้น และต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปีนับจากวันที่ซื้อเพื่อมิให้เสียสิทธิ์และจ่ายค่าปรับก้อนโตย้อนหลัง
หากคุณกำลังมองหาช่องทางลดหย่อนภาษี คุณไม่ควรพลาดกองทุน SSF ที่ให้หักลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินหรือไม่เกิน 200,000 บาทและเมื่อรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ แล้วไม่เกิน 500,000 บาท และกองทุน SSF Extra ที่ให้คุณสามารถลดหย่อนสูงสุด 200,000 บาทต่างหากจากกองทุน SSF และการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ
คำถามที่พบบ่อย
1.RMF และ LTF คืออะไร?
กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นที่ต้องถือครองเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 7 ปี มีคุณสมบัติที่ให้สิทธิในการลดหย่อนภาษี ซึ่งจะช่วยให้ตลาดหุ้นเกิดสภาพคล้องและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นกองทุนที่เน้นการออมเงินในระยะยาวเพื่อใช้ในยามเกษียณ โดยจะเน้นสิทธิประโยชน์ในด้านภาษีเช่นเดียวกัน
2. What is SSF and RMF?
SSF เป็นกองทุนเพื่อการออม แต่ RMF คือกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ทั้งคู่มีเป้าหมายเพื่อการเก็บออม และลดหย่อนภาษีเช่นเดียวกัน โดย SSF จะต้องถือเป็นเวลา 10 ปี นับจากวันที่ซื้อครั้งแรก ส่วน RMF สามารถถือขั้นต่ำอย่างน้อย 5 ปีได้ ที่สำคัญยังเป็นกลุ่มกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ได้ในทุกประเภทอีกด้วย
3. SSF ประเทศไทย คืออะไร?
กองทุนรวมเพื่อการออม หรือ Super Savings Fund (SSF) เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF เน้นลงทุนในสินทรัพย์ทุกๆ ประเภท ถือกันนานๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ปีจากวันที่ซื้อ เหมาะกับผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เป็นไปตามสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน