QM Pattern คืออะไร
ในโลกการลงทุนมีรูปแบบกราฟอยู่มากมายที่นักลงทุนส่วนใหญ่หากศึกษามาบ้างก็มักผ่านตากันบ้างแล้ว แต่หากจะถามว่า QM Pattern คืออะไร หลายคนก็อาจต้องไปเสิร์ชหาเพราะไม่เคยได้ยินมาก่อนซึ่งก ็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะรูปแบบราคานี้เพิ่งเริ่มถูกพูดถึงกันเมื่อไม่นานมานี้ แต่ก็เป็นรูปแบบราคาที่สามารถช่วยบอกจุดลับตัวของแนวโน้มอันเป็นสัญญาณเตือนไม่ให้นักลงทุนเพลินกับแนวโน้มก่อนหน้ามากเกินไปจนอาจเกิดความเสียหาย ดังนั้นคราวนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ QM Pattern กัน
QM Pattern คืออะไร
Quasimodo Pattern หรือ QM Pattern คือรูปแบบราคาที่แสดงการกลับตัวของแนวโน้มรูปแบบหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายรูปแบบหัวและไหล่ (Head and Shoulders) แต่ Quasimodo Pattern เป็นรูปแบบหัวและไหล่ที่ไม่สมมาตรที่ไหล่ขวาจะต่ำหรือสูกว่าไหล่ซ้ายอย่างผิดปกติทำให้ดูเหมือนคนค่อมมากกว่าจะเป็นหัวและไหล่ของคนธรรมดา ด้วยรูปแบบที่แปลกไปจากปกตินี้เองจึงเป็นที่มาของชื่อควอซีโมโด (Quasimodo) อันมาจากชื่อตัวละครหลักในเรื่องคนค่อมแห่งนอเทรอดามที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นเอง
รูปแบบกราฟ QM Pattern มีลักษณะเป็นรูป M หรือ W ที่ประกอบด้วย 3 จุดสวิงคล้ายกับบรูปแบบ Head and Shoulders แต่จะมีความแตกต่างกันตรงที่เมื่อมีการฟอร์ม Head แล้วการปรับฐานที่ตามมาก่อนเกิดไหล่ขวาจะหลุดหรือทะลุ Neckline อย่างรุนแรง ก่อนจะกลับไปฟอร์มตัวป็นไหล่ขวาที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไหล่ซ้าย จากนั้นการเปลียนแปลงของแนวโน้มราคาก็จะเกิดขึ้น
QM Pattern มักเกิดขึ้นบริเวณจุดเปลี่ยนของแนวโน้มทั้งจากขาลงเป็นขาขึ้นและจากขาขึ้นเป็นขาลง จึงมักถูกนำมาใช้ในการบ่งบอกจุดกลับตัวของแนวโน้มราคาในลักษณะเดียวกับรูปแบบ Head and Shoulders และยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะเหมือนกัน คือ
รูปแบบที่เป็นการกลับตัวเป็นแนวโน้มขาขึ้น (Bullish QM Pattern)
เป็นรูปแบบ QM Pattern ที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายของแนวโน้มขาลงที่กำลังจะเปลี่ยนกลับเป็นขาขึ้น ซึ่งอาจสังเกตหารูปแบบการฟอร์มตัวได้จากแนวโน้มราคาที่เป็นขาลงมาก่อนหน้าแล้วเริ่มฟอร์มรูปแบบที่ทำจุดต่ำลงเรื่อย ๆ (Lower Low) พร้อมกับเกิดสัญญาณขัดแย้งหรือเริ่มมีปริมาณการซื้อขายที่ลดลง
หลังจากฟอร์มส่วนตัวแล้วราคาเกิดการรีบาวน์อย่างรุนแรงทะลุแนวต้านเดิมที่เป็นจุดสูงก่อนหน้าแล้วทำจุดสูงใหม่ (Higher High) แต่ไม่สามารถยืนอยู่ได้ ทำให้ราคามีการปรับตัว (Correction) ลงมาไม่ต่ำกว่าจุดต่ำที่ไหล่ซ้ายที่ทำไว้ เมื่อราคาทดสอบแนวรับนี้แล้วเกิดการกลับตัวทะลุจุดสูงที่ทำไว้ตอนรีบาวน์ (ทำ Higher High) แนวโน้มราคาก็จะเปลี่ยนกลับจากขาลงเป็นขาขึ้นโดยสมบูรณ์
รูปแบบที่เป็นการกลับตัวเป็นแนวโน้มขาลง (Bearish QM Pattern)
เป็นรูปแบบ QM Pattern ที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายของแนวโน้มขาขึ้นที่กำลังจะเปลี่ยนกลับเป็นขาลง ซึ่งอาจสังเกตหารูปแบบการฟอร์มตัวได้จากแนวโน้มราคาที่เป็นขาขึ้นมาก่อนหน้าแล้วเริ่มฟอร์มรูปแบบที่ทำจุดสูงที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ (Higher High) พร้อมกับเกิดสัญญาณขัดแย้งหรือเริ่มมีปริมาณการซื้อขายที่ลดลง
หลังจากฟอร์มส่วนหัวแล้วราคาเกิดการปรับลงอย่างรุนแรงทะลุแนวรับเดิมที่เป็นจุดต่ำก่อนหน้าแล้วทำจุดต่ำใหม่ (Lower Low) แต่ราคาถูกดันกลับไปอีกครั้งขึ้นไปไม่สูงกว่าจุดสูงที่ไหล่ซ้ายที่ทำไว้ เมื่อราคาทดสอบแนวต้านนี้แล้วเกิดการปรับลงหลุดจุดต่ำที่เคยทำไว้ก่อนหน้า (ทำ Lower Low) แนวโน้มราคาก็จะเปลี่ยนกลับจากขาขึ้นเป็นขาลงโดยสมบูรณ์
แนวคิดเบื้องหลังรูปแบบกราฟ QM Pattern
ม้จะดูว่า QM Pattern เป็นเครื่องมือเทรดประเภทรูปแบบกราฟ (Chart Pattern) แต่เรายังสามารถอธิบายกลไกเบื้องหลัง QM Pattern ได้ด้วยทฤษฎีดาว (Dow Theory) อันเป็นพื้นฐานของการเทรดแนว Trend Following ที่มีองค์ประกอบสำคัญข้อหนึ่งคือ “แนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเกิดสัญญาณเปลี่ยนแปลงแนวโน้ม” สังเกตได้จากเมื่อเป็นแนวโน้มขาขึ้นราคาจะทำจุดสูงสุดใหม่ (Higher High) เสมอ และในแนวโน้มขาลงราคาจะทำจุดต่ำสุดใหม่ (Lower Low) เสมอ ซึ่งสะท้อนมาจากการปะทะกันระหว่างแรงซื้อและแรงขาย (อ่านเพิ่ม Demad Supply คือ) จนทำให้เกิดแนวโน้มนั่นเอง
QM Pattern ก็มีการฟอร์มตัวในรูปแบบของทฤษฎีดาวเช่นเดียวกัน นั่นคือ
Bullish QM Pattern
ราคาจะมีการฟอร์มตัวแบบทำจุดต่ำใหม่ (Lower Low) ที่ยืนยันแนวโน้มขาลงก่อนหน้า ก่อนที่จะเกิดการทำลายแนวโน้มนั้นด้วยการรีบาวน์ทำจุดสูงที่สูงกว่าจุดก่อนหน้า (Higher High) ซึ่งเป็นการทำลายรูปแบบแนวโน้มขาลงตามทฤษฎีดาว ก่อนที่ราคาจะกลับมาทดสอบแนวรับด้วยการทำจุดต่ำที่ยกสูง (Higher Low) ซึ่งเป็นรูปแบบของแนวโน้มขาขึ้น ก่อนจะมีการกลับตัวเป็นขาขึ้นอย่างแท้จริงต่อไป
Bearish QM Pattern
ราคาจะมีการฟอร์มตัวแบบทำจุดสูงใหม่ (Higher High) ที่ยืนยันแนวโน้มขาขึ้นก่อนหน้า ก่อนที่จะเกิดการทำลายแนวโน้มนั้นด้วยการย่อตัวทำจุดต่ำที่ต่ำลง (Lower Low) ซึ่งเป็นการทำลายรูปแบบแนวโน้มขาขึ้นลงตามทฤษฎีดาว ก่อนที่ราคาจะรีบาวน์มาทดสอบแนวต้านด้วยการทำจุดสูงที่ต่ำลง (Lower High) ซึ่งเป็นรูปแบบของแนวโน้มลงขึ้น ก่อนจะมีการกลับตัวเป็นขาลงอย่างแท้จริงต่อไป
วิธีเทรดรูปแบบกราฟ QM Pattern ด้วย Demand Supply Zone
Demand Supply Zone คือ โซนของราคาที่มีแรงซื้อมากซึ่งจะถูกมองว่าเป็นโซนของแนวรับ หรือ โซนของราคาที่มีแรงขายมากซึ่งจะถูกมองว่าเป็นโซนของแนวต้าน สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับ QM Pattern ได้ด้วยการนำมาวางจุดเข้าทำรายการ (Entry) บนกลยุทธ์เทรดตามแนวโน้ม (Trend Followign) ที่จะเกิดใหม่ การเทรดจะเกิดขึ้นเมื่อราคาเริ่มฟอร์มตัวรูปแบบ QM Pattern ในส่วนไหล่ซ้ายและหัว แล้วกำลังเริ่มฟอร์มเป็นไหล่ขวา เราจะวางกลยุทธ์การเทรดได้ดังนี้
Bullish QM Pattern
จะฟอร์มไหล่ขวาด้วยการทำจุดสูงสุดใหม่ (Higher High) จากนั้นย่อลงทดสอบแนวรับที่ไม่ต่ำกว่าไหล่ซ้าย ซึ่งถูกมองว่าเป็น Demand Zone และเป็นจุดเข้าซื้อ โดยวางจุดตัดขาดทุน (Stoploss) ที่ส่วนหัวหรือจุดต่ำสุดที่เคยทำไว้ก่อนหน้า และวางจุดทำกำไร (Exit) เมื่อเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงแนวโน้ม
Bearish QM Pattern
จะฟอร์มไหล่ขวาด้วยการทำจุดต่ำใหม่ (Lower Low) จากนั้นรีบาวน์ขึ้นทดสอบแนวต้านที่ไม่สูงกว่าไหล่ซ้าย ซึ่งถูกมองว่าเป็น Supply Zone และเป็นจุดขาย (Short-Entry) โดยวางจุดตัดขาดทุน (Stoploss) ที่ส่วนหัวหรือจุดสูงสุดที่เคยทำไว้ก่อนหน้า และวางจุดทำกำไร (Exit) เมื่อเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงแนวโน้ม
ข้อจำกัดและข้อควรระวังในการนำ QM Pattern ไปใช้
QM Pattern คือเครื่องมือในกลุ่มรูปแบบราคาซึ่งข้อจำกัดที่เกิดขึ้นและมักทำให้เกิดการตีความที่ผิดเพี้ยนไปจากรูปแบบที่ควรเป็นคือการนำรูปแบบราคาไปใช้กับหุ้นหรือสินทรัพย์ทางการเงินที่มีปริมาณการซื้อขายเบาบาง ซึ่งอาจมีการฟอร์มตัวคล้ายกับ QM Pattern แต่สุดท้ายแล้วรูปแบบราคาที่จะเกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับแรงซื้อขายของคนไม่กี่คนและอาจผิดเพี้ยนไปจากที่ควรเป็นได้
สรุป
มาจนถึงตรงนี้คงไม่มีข้องสงสัยกันแล้วว่า QM Pattern คืออะไร หากจำไม่ได้ให้ลองคิดถึงควอซิโมโด หรือคนค่อมแห่งนอเทรอดามไว้ เราก็จะได้เห็นรูปแบบกราฟที่มีลักษณะหัวและไหล่ที่ไม่สมมาตรแต่ก็สามารถนำมาใช้เป็นจุดสังเกตการกลับตัวของแนวโน้ม ตลอดไปจนถึงเป็นโอกาสในการเทรดของนักเทรดที่ชื่นชอบการเทรดตามแนวโน้ม (Trend Following) ได้อีกด้วย ซึ่งรูปแบบกราฟนี้ไม่ได้เป็นเพียงกราฟเปล่า ๆ แต่ยังสนับสนุนด้วยทฤษฎีดาวที่หนุนหลังด้วยกฎของอุปสงค์และอุปทานทำให้ QM Pattern เป็นอีกหนึ่งรูปแบบกราฟที่มีความแม่นยำสูง แต่ก่อนที่จะนำไปใช้ก็ควรตรวจสอบปริมาณการซื้อขายของสินทรัพย์นั้น ๆ เพื่อความแม่นยำของการนำไปใช้งานด้วย
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน