Pull back และ Throwback คืออะไร
Pullback และ Throwback คือรูปแบบราคาที่นักเทคนิคผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์กราฟคุ้นเคยดี แต่การเคลื่อนที่ของราคารูปแบบนี้อาจทำให้นักลงทุนมือ ใหม่สับสนกับรูปแบบราคาที่เป็นจุดกลับตัว (Reversal Pattern) ได้ ซึ่งทั้ง Pullback และ Throwback และ Reversal นั้นแม้จะดูคล้ายกันแต่ก็ให้การตีความเพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งคราวนี้เราจึงจะมาทำความรู้จักกันบ้างว่าจริง ๆ แล้ว Pullback และ Throwback คืออะไร และสำหรับนักเทรดอย่างเราจะนำรูปแบบนี้ไปใช้ในการเทรดอย่างแม่นยำได้อย่างไรบ้าง
Pull Back และ Throwback คืออะไร ใช้อย่างไรในงานเทรด
Pullback และ Throwback คือ การชะลอตัวของราคาแบบที่เป็นการดึงตัวกลับจากแนวโน้มเดิมที่เกิดขึ้นก่อนหน้า แต่การดีดกลับนี้เป็นไปเพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ และไม่ได้ทำให้แนวโน้มก่อนหน้าเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะในท้ายที่สุดราคาก็จะวิ่งกลับไปตามแนวโน้มเดิมอยู่ดี ซึ่งทั้ง Pullback/ Throwback มีความต่างกันอยู่เล็กน้อย
Pullback คือ การดึงกลับของราคาในแนวโน้มขาลง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการรีบาวน์ระยะสั้นโดยไม่ทะลุผ่านแนวต้าน จากนั้นราคาก็จะวกกลับทำจุดต่ำสุดใหม่ (Lower Low) ตามแนวโน้มขาลงต่อไป
Throwback คือ การดึงกลับของราคาในแนวโน้มขาขึ้น หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการย่อตัวระยะสั้นโดยไม่หลุดแนวรับ จากนั้นราคาก็จะวกกลับทำจุดสูงสุดใหม่ (Higher High) ตามแนวโน้มขาขึ้นต่อไป
การเกิด Pullback และ Throwback สามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิดการปะทะกันระหว่างแรงซื้อและแรงขายในตลาด (Demand / Supply) คือ เมื่อเกิดการเคลื่อนตัวของราคาอย่างต่อเนื่องในแนวโน้มหนึ่ง คนที่ถือสถานะมาก่อนหน้ามีแนวโน้มที่จะปิดสถานะทำกำไรออกมา ทำให้ราคามีการปรับฐานให้เกิด Pullback และ Throwback แต่เนื่องจากเป็นเพียงการล็อกกำไรของนักลงทุนบางส่วน จึงไม่ใช่การเปลี่ยนแนวโน้มที่แท้จริง เมื่อราคาเกิดการปรับฐานถึงระดับหนึ่งที่ไม่หลุดแนวรับ/แนวต้าน จะเริ่มมีนักลงทุนมองหาจุดเข้าทำรายการและผลักดันให้ราคาเคลื่อนตัวกลับไปในแนวโน้มเดิมต่อไป
ด้วยการชะลอตัวของราคาโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มนี้เองที่ทำให้จุด Pullback และ Throwback ถูกนำมาใช้เป็นจุดเข้าซื้อขาย (Entry) ของนักเทรดเพื่อให้ได้ราคาที่ได้เปรียบกว่าการใช้กลยุทธ์ซื้อตาม (Follow Buy) ที่อาจมีการย่อตัวของราคาจนทำให้ต้องถูกตัดขาดทุนได้
ความแตกต่างระหว่างรูปแบบราคา Pull Back/ Throwback และรูปแบบ Reversal
สิ่งที่ทำให้นักลงทุนนำกลยุทธ์การเทรด Pull Back และ Throwback ไปใช้แล้วไม่ประสบความสำเร็จอาจมีสาเหตุมาจากการตีความปนกันกับรูปแบบ Reversal ที่มีรูปแบบคล้ายกันมาก แต่ผลลัพธ์ที่ตามมานั้นแตกต่างกันไปในคนละทิศทาง โดยรูปแบบ Pull Back และ Throwback จะตามมาด้วยการเคลื่อนตัวของราคาไปในแนวโน้มเดิม แต่ Reversal จะตามมาด้วยการกลับตัวของราคาไปในทิศทางตรงกันข้าม ดังนั้นนักลงทุนจึงควรสังเกตรายละเอียดที่ทำให้เราสามารถตีความรูปแบบทั้งสองออกจากกันได้ นั่นคือ
1. การทดสอบแนวรับแนวต้าน
รูปแบบ Pull Back และ Throwback เป็นการดึงกลับของราคาที่ไม่ทำลายแนวรับหรือแนวต้านเดิมที่มีอยู่ แต่การปรับฐานของรูปแบบ Reversal จะมีการทำลายแนวรับหรือแนวต้านที่เคยเกิดขึ้น โดยเฉพาะหากมีการทำลายแนวรับแนวต้านที่มีความแข็งแกร่งมาก ก็มีแนวโน้มว่าการปรับฐานที่เกิดขึ้นจะเป็นการ Reversal มากกว่า Pull Back และ Throwback
2. การยืนยันด้วยปริมาณการซื้อขาย
รูปแบบ Pull Back และ Throwback เป็นการปรับฐานที่มีปริมาณการซื้อขาย (Volume) ต่ำทำให้รูปแบบการปรับฐานของราคามีลักษณะชั่วคราว แต่รูปแบบ Reversal มักถูกยืนยันด้วยการปรับฐานพร้อมปริมาณซื้อขายจำนวนมากที่มายืนยัน ทำให้รูปแบบนี้จะตามมาด้วยการทำลายแนวรับแนวต้านได้ในที่สุด
กลยุทธ์พื้นฐานสำหรับการเทรด Pull Back และ Throwback
โดยทั่วไปแล้วนักลงทุนและนักเทรดสามารถนำ Pullback และ Throwback เข้ามาใช้กับเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการนำไปใช้ เช่น รูปแบบราคาเบรคเอาท์ หรือ เครื่องมือที่ช่วยหาแนวรับแนวต้านอื่น ๆ เช่น เส้นแนวโน้ม เส้นค่าเฉลี่ย Fibonacci ฯลฯ
1. เทรด Pull Back และ Throwback บนการเบรคเอาท์
การเบรคเอาท์เป็นการทำลายแนวรับแนวต้านเดิมจนทำให้เห็นแนวโน้มชัดเจนขึ้น ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งการเบรคเอาท์ที่จุดกลับตัว (Reversal Pattern) ทำให้เกิดแนวโน้มใหม่ หรือ การเบรคเอาท์จากจุดพักตัว ทำให้ราคากลับมาเคลื่อนตัวในแนวโน้มเดิมอีกครั้ง (Contineus Pattern) ซึ่งไม่ว่าการเบรคเอาท์ที่จุดไหนมักตามมาด้วยการ Pullback และ Throwback เพื่อทดสอบแนวรับแนวต้านเดิมก่อนที่ราคาจะกลับไปเคลื่อนตัวเป็นแนวโน้มอย่างแท้จริง
การเทรด Pull Back และ Throwback บนการเบรคเอาท์ทำได้ด้วยการติดตามราคาที่มีการเบรคเอาท์โดยไม่มีการ Follow ราคา แต่จะรอให้ราคาเกิดการ Pull Back และ Throwback มาทดสอบแนวรับแนวต้านเดิมและใช้จุดทดสอบนั้นเป็นจุดเข้าทำรายการ โดยตั้งจุดตัดขาดทุนไว้ที่จุดต่ำสุดของแท่งเทียนที่มีการเบรคเอาท์ และเลือกปิดสถานะเมื่อเห็นสัญญาณการอ่อนตัวหรือกลับตัวของแนวโน้ม
2. เทรด Pull Back และ Throwback แบบขั้นบันได
ในแนวโน้มราคาที่ชัดเจนราคาจะมีการเคลื่อนตัวไปในแนวโน้มสลับการปรับฐานด้วยการ Pullback ในแนวโน้มขาลงในลักษณะที่มีการกดจุดสูงสุด (Lower High) ลงเรื่อย ๆ และสำหรับการ Throwback ในแนวโน้มขาขึ้นจะมีการยกจุดต่ำ (Higher Low) ขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้รูปแบบกราฟที่ได้มีลักษณะเป็นขั้นบันได ซึ่งรูปแบบราคานี้สามารถนำมาใช้หาแนวรับแนวต้านเพื่อเป็นจุดเปิดสถานะของกลยุทธ์ Pull Back และ Throwback ได้
การเทรด Pull Back และ Throwback แบบขั้นบันไดทำได้ด้วยการที่ในแนวโน้มขาขึ้นให้หาแนวรับสำหรับการ Throwback ของราคาตรงจุดสูงก่อนหน้าเพื่อเป็นจุดเข้าซื้อ และในแนวโน้มขาลงให้ใช้แนวต้านที่เป็นจุดต่ำก่อนหน้าสำหรับหาจุด Pullback เพื่อเป็นจุดเปิดสถานะขาย โดยตั้งจุดตัดขาดทุนเมื่อราคาหลุดหรือทะลุแนวรับแนวต้านเดิมไปได้
3. เทรด Pull Back และ Throwback บนเส้นแนวโน้ม
การ Pullback และ Throwback ในแนวโน้มที่ชัดเจนยังสามารถเกิดขึ้นได้บนเส้นแนวโน้ม ที่อาจหาได้จากการตีเส้นแนวโน้ม (Trendline) หรือการใช้เส้นค่าเฉลี่ย (MA) มาเป็นตัวแทนของเส้นแนวโน้มก็ได้ ซึ่งการ Throwback ของราคาในแนวโน้มขาขึ้นเมื่อมีการย่อตัวลงมาทดสอบเส้นแนวโน้มที่ทำหน้าที่เป็นแนวรับจะไม่หลุดลงไป ในทางตรงกันข้ามหากมีการ Pullback ของราคาในแนวโน้มขาลงขึ้นไปทดสอบเส้นแนวโน้มที่ทำหน้าที่เป็นแนวต้าน ราคาก็จะไม่ทะลุขึ้นไป ทำให้เส้นแนวโน้มสามารถนำมาใช้เป็นจุดเข้าทำรายการสำหรับกลยุทธ์ Pullback และ Throwback ได้เช่นกัน
การเทรด Pull Back และ Throwback บนเส้นแนวโน้มทำได้ด้วยการรอให้ราคาเกิดการ Pullback ในแนวโน้มขาลงขึ้นมาทดสอบเส้นแนวโน้มซึ่งใช้เป็นจุดเปิดสถานะขาย หรือ รอให้ราคาเกิดการ Throwback ในแนวโน้มขาขึ้นลงมาทดสอบเส้นแนวโน้มซึ่งใช้เป็นจุดซื้อ แล้วตั้งจุดตัดขาดทุนเมื่อราคาสามารถทำลายแนวรับแนวต้านได้
4. เทรด Pull Back และ Throwback ด้วย Fibonacci
ในการเคลื่อนที่ของราคาที่เป็นแนวโน้มเรายังสามารถหาเป้าหมายการ Pullback และ Throwback ได้ด้วย Fibonacci ซึ่งนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการหาแนวรับแนวต้านด้วยเช่นกัน โดยในแนวโน้มขาขึ้นที่แข็งแกร่งเมื่อราคามีการย่อตัว Throwback มักจะไม่หลุดระยะ 23.6%, 38.2%, 50% ในทางกลับกันหากเป็นแนวโน้มขาลงที่แข็งแกร่ง ราคาก็มักจะ Pullback ไม่สูงกว่าระยะ 23.6%, 38.2%, 50% ซึ่งระยะเหล่านี้สามารถนำมาใช้กำหนดกลยุทธ์ Pullback และ Throwback ได้
การเทรด Pull Back และ Throwback ด้วย Fibonacci ทำได้ด้วยการรอการ Throwback ของราคาในแนวโน้มขาขึ้น โดยแบ่งเปิดสถานะ 3 ไม้ที่ระยะ 23.6%, 38.2%, 50% และจุดตัดขาดทุนเมื่อราคามีแนวโน้มที่จะปรับตัวต่ำกว่า 50% ในทางตรงกันข้ามหากเป็นแนวโน้มขาลงให้แบ่งเปิดสถานะขาย 3 ไม้ที่ระยะ Pullback ของงราคา 23.6%, 38.2%, 50% และตั้งจุดตัดขาดทุนหากราคามีแนวโน้มจะทะลุ 50% ขึ้นไป ซึ่งตัวเลข Fibonacci ที่นำไปประยุกต์กับระบบเทรดจริงอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามประเภทสินทรัพย์ได้เพื่อความแม่นยำที่เพิ่มขึ้น
สรุป
การ Pullback และ Throwback คือ การดึงกลับของราคาจากแนวโน้มหลัก ซึ่งมักถูกนำมาใช้หาจุดเข้าเปิดสถานะที่ได้เปรียบด้วยการได้ราคาที่ดีและมีจุดตัดขาดทุนต่ำ เมื่อนำมาประยุกต์เข้ากับกลยุทธ์ Pullback และ Throwback ร่วมกับเครื่องมืออื่น ๆ ก็ช่วยให้การนำ Pullback และ Throwback ไปใช้ในการเทรดมีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้นได้ และทั้งหมดนี้ก็คือการประยุกต์ใช้ Pullback และ Throwback ในการเทรดที่เรานำมาฝากกันในคราวนี้และหวังว่าทุกท่านจะได้ลองนำกลยุทธ์นี้ไปประยุกต์ใช้กับการเทรดได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยเพิ่ม แม่นยำในการเทรดต่อไป
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน