กองทุนรวมคืออะไร? 4 อย่างที่ต้องรู้ก่อนเปิดบัญชีกองทุนรวม!
กองทุนรวมคืออะไร
กองทุนรวม (Mutual Fund) คือ ตัวกลางในการรวบรวมเงินทุนจาก นักลงทุนรายย่อย มาจัดตั้งเป็น กองทุน ที่บริหารจัดการโดย ผู้จัดการกองทุน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพและได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
เมื่อได้รับเงินทุนจากนักลงทุนรายย่อยมาแล้ว ผู้จัดการกองทุนจะนำเงินทุนเหล่านั้นไปลงทุนตามนโยบายของกองทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงที่สุดภายใต้ความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ และเมื่อได้ผลตอบแทนกลับมาก็จะนำมาเฉลี่ยคืนให้กับนักลงทุนแต่ละรายตามสัดส่วนที่นักลงทุนและคนได้ลงทุนไป
ด้วยลักษณะเฉพาะของกองทุนที่เป็นการรวบรวมเงินทุนจากรายย่อยให้มีขนาดของเงินลงทุนที่มากขึ้นแล้วนำมาบริหารจัดการโดยมืออาชีพ ทำให้กองทุนรวมมีข้อได้เปรียบจากการลงทุนโดยนักลงทุนรายย่อยอยู่หลายประการ เช่น
1. ทำให้การลงทุนมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้น
จากเดิมที่นักลงทุนรายย่อยมีเงินทุนน้อย และเครื่องมือหลายอย่างอาจไม่เอื้ออำนวยให้สามารถลงทุนในสินทรัพย์บางประเภท เช่น สินทรัพย์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ หรือ สินทรัพย์ที่ต้องใช้เงินลงทุนในจำนวนที่สูง การรวมเงินจากนักลงทุนรายย่อยจนกลายเป็นเม็ดเงินที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและบริหารจัดการโดยมืออาชีพจึงทำให้การกระจายความเสี่ยงของเม็ดเงินไปยังสินทรัพย์ที่หลากหลายเป็นไปได้ง่ายขึ้น
2. ทำให้ได้รับการดูแลจัดการจากผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์
เนื่องจากเงินทุนของนักลงทุนรายย่อยจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากผู้จัดการกองทุนซึ่งต้องขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์เพื่อเป็นการปกป้องนักลงทุน ทำให้เงินลงทุนของนักลงทุนรายย่อยได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญอย่างมืออาชีพ
3. ทำให้มีผู้ที่ช่วยดูแลพอร์ตการลงทุนตลอดเวลา
โดยที่มีการตรวจสอบควบคุมจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบการทำงานได้ สม่ำเสมอ
ด้วยข้อได้เปรียบเหล่านี้ กองทุนรวม จึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะกับนักลงทุนที่เพิ่งสนใจลงทุน มีเงินทุนจำกัด หรือแม้แต่นักลงทุนที่ไม่ค่อยมีเวลาหาข้อมูลดูแลพอร์ตด้วยตนเอง รวมถึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนทั่วไปด้วยเช่นเดียวกัน
กองทุนมีประเภทอะไรบ้าง
เนื่องจากในประเทศไทยมีบริษัทจัดการหลักทรัพย์มากมาย แต่ละบริษัทก็มีกองทุนในความดูแลอีกเป็นจำนวนมาก แต่ในจำนวนนั้นสามารถจัดกลุ่มกองทุนอย่างคร่าว ๆ ได้ 2 รูปแบบ คือ
แบ่งตามประเภทการขายคืนหน่วยลงทุน (ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง)
1. กองทุนปิด (Closed – End Fund)
เป็นกองทุนที่เปิดขายหน่วยลงทุนครั้งเดียวตอนระดมทุน โดยมีจำนวนหน่วยลงทุนคงที่ตลอดโครงการและมีระยะเวลาขายคืนครั้งเดียวที่กำหนดแน่นอน และระหว่างนั้นบลจ.จะไม่รับซื้อหน่วยลงทุนคืนจนตลอดช่วงโครงการ ทำให้การลงทุนในกองทุนนี้มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของผู้ซื้อหน่วยลงทุนที่สามารถซื้อขายได้เพียงครั้งเดียวเมื่อครบกำหนดที่ถ้าต้องการขายคืนก่อนหน้านั้นผู้ถือหน่วยลงทุนจำเป็นต้องติดต่อทำการซื้อขายนอกระบบด้วยตนเอง ในทางกลับกันก็เป็นการลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนที่ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่สามารถขายหน่วยลงทุนระหว่างโครงการจนทำให้ต้องปิดกองเนื่องจากมูลค่ากองทุนลดลงจนถึงมูลค่าที่กำหนดได้
2. กองทุนเปิด (Opened – End Fund)
เป็นกองทุนที่เปิดขายหน่วยลงทุนได้ตลอดเวลา ทำให้มีหน่วยลงทุนเพิ่มหรือลดได้ตลอดโครงการ และขนาดของกองทุนก็สามารถเพิ่มหรือลดจากการซื้อขายหน่วยลงทุนได้เช่นกัน ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของผู้ซื้อหน่วยลงทุนที่สามารถซื้อขายกลับเป็นเงินสดได้ทุกครั้งที่ต้องการ แต่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้กับกองทุนที่มูลค่ากองทุนสามารถเพิ่มหรือลดได้ตลอดเวลาที่เปิดให้มีการซื้อขายหน่วยลงทุน ถือเป็นกองทุนที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาปิดกอง การปิดกองจะเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวนเท่านั้น
แบ่งตามนโยบายการลงทุน (ความเสี่ยงด้านผลตอบแทน)
1. กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund)
เป็นกองทุนที่ลงทุนใน เงินฝาก และ ตราสารหนี้ระยะสั้น หรือมีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี ด้วยนโยบายที่ลงทุนในสินทรัพย์อย่างเงินฝากและตราสารหนี้ระยะสั้นซึ่งให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ทำให้กองทุนชนิดนี้มีความผันผวนของผลตอบแทนต่ำและมีความเสี่ยงต่ำที่สุด เหมาะกับผู้ลงทุนที่ไม่ต้องการความเสี่ยงหรือต้องการพักเงิน
2. กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund)
เป็นกองทุนที่ลงทุนใน เงินฝาก และ ตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ตั๋วเงินคลัง บัตรเงินฝากของธนาคาร ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้เอกชน ด้วยความที่ผลตอบแทนของสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ที่กองทุนสามารถลงทุนได้ ทำให้ช่วยเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่ากองทุนรวมตลาดเงิน ซึ่งแลกมาด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอีกระดับแต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ เหมาะสำหรับใช้กระจายความเสี่ยงร่วมกับกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ
3. กองทุนรวมผสม (Mixed Fund)
เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุน โดยมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไม่เกิน 80% และด้วยนโยบายของกองทุนที่เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนที่ช่วยเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ แต่ก็แลกมาด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอีกระดับ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง รวมถึงผู้ที่เริ่มลงทุนในหุ้นแต่ยังไม่มีประสบการณ์มากนัก
4. กองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น (Flexible Fund)
เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนได้ทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุนเช่นเดียวกับกองทุนรวมผสม แต่ไม่มีข้อจำกัดด้านปริมาณการลงทุนในหุ้นและให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนของแต่ละกอง ซึ่งสามารถปรับการถือครองหุ้นขึ้นไปถึง 100% ได้หากผู้จัดการกองทุนคาดการณ์ว่าตลาดอยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างร้อนแรง หรือปรับสัดส่วนการถือหุ้นลงให้เหลือน้อยและเพิ่มสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้เมื่อเล็งเห็นว่าตลาดอยู่ในภาวะซบเซา ทำให้การลงทุนที่มีนโยบายแบบนี้เหมาะกับผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลางถึงสูง และเหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนแต่ไม่มีเวลาดูแลปรับพอร์ตให้ทันได้ตามสถานการณ์
5. กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund)
เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนประเภทต่างๆ และต้องมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 80% ของพอร์ตการลงทุน ซึ่งอาจมองในอีกแง่หนึ่งได้ว่าเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างผันผวนตามภาวะตลาด และด้วยสัดส่วนการลงทุนที่ให้น้ำหนักที่ค่อนข้างสูงทำให้กองทุนประเภทนี้ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูงเช่นเดียวกับที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนในหุ้นเป็นหลักแต่ไม่มีเวลาบริหารพอร์ตการลงทุนด้วยตัวเอง
6. กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม (Sector Fund)
เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นของธุรกิจในกลุ่มเดียวกัน เช่น หมวดธนาคาร หมวดสื่อสาร หมวดขนส่ง ในปริมาณไม่น้อยกว่า 80% ของพอร์ตการลงทุน และเนื่องจากเป็นการลงทุนแบบที่รวมเงินทุนลงไปกับหมวดใดหมวดหนึ่งจึงเป็นการรวมความเสี่ยงไว้กับหมวดใดหมวดหนึ่งด้วยเช่นกัน ทำให้ผลตอบแทนของกองทุนมีโอกาสผันผวนได้มากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นโดยทั่วไป ซึ่งหมายถึงโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นแลกมาด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น จึงเหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง รวมถึงนักลงทุนในหุ้นที่คาดการณ์การเติบโตของธุรกิจแต่ละหมวดเอาไว้แล้ว แต่ไม่มีเวลาเลือกหุ้นและบริหารพอร์ตการลงทุนด้วยตนเอง
7. กองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือก (Alternative Investment Fund)
เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ น้ำมัน สินค้าเกษตร ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีความผันผวนของราคาสูงมาก ทำให้ความเสี่ยงของผลตอบแทนที่ได้จากกองทุนนี้มีค่าสูงมากเช่นเดียวกัน จึงเหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง และต้องการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนไปยังสินทรัพย์ทางเลือกโดยที่ไม่ต้องเปิดบัญชีเพื่อทำการซื้อขายสินค้าเหล่านั้นเอง
ในบรรดากองทุนทั้งหมดที่กล่าวถึง ไม่ได้มีกองทุนใดกองทุนหนึ่งที่เป็นสูตรสำเร็จและเหมาะสมสำหรับทุกคนในทุกช่วงเวลา จะมีก็แต่กองทุนที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนแต่ละคนในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เท่านั้น ซึ่งสูตรนั้นนักลงทุนแต่ละคนจำเป็นหาค้นหาส่วนผสมที่เหมาะกับตนเองต่อไป
สิ่งที่ต้องรู้ในการเปิดบัญชีกองทุนรวม
เมื่อพูดมาถึงตรงนี้แล้วหลายท่านอาจเริ่มสงสัยว่าหากสนใจลงทุนในกองทุนรวมขึ้นมาบ้างแล้วต้องทำอย่างไรต่อไป ซึ่งการลงทุนในกองทุนรวมก็มีขั้นตอนไม่ต่างจากการลงทุนประเภทอื่นเท่าไหร่นัก นั่นคือ
1. ประเมินความเสี่ยงที่ตนเองรับได้
คำถามนี้สำหรับผู้ลงทุนหน้าใหม่อาจเป็นคำถามที่ตอบยาก วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะตอบคำถามนี้ก็คือการทำแบบทดสอบ KYC ที่ทุกบลจ.ต้องให้ลูกค้าทำก่อนเปิดบัญชี แต่ถ้าให้ง่ายขึ้นอีกนิดก็อาจลองเปลี่ยนเป็นคำถามที่ว่า ถ้าเห็นพอร์ตการลงทุนของตัวเองเปลี่ยนแปลงมากน้อยเท่าไหร่จึงเริ่มเกิดความกังวล แล้วนำเปอร์เซนต์ที่ลองคาดคะเนนั้นเก็บไว้ในใจเพื่อเปรียบเทียบกับความผันผวนและผลตอบแทนเฉลี่ยของแต่ละกองทุนต่อไป
2. ศึกษาภาพรวมเศรษฐกิจโดยรวม
การประเมินภาพรวมเศรษฐกิจจะทำให้นักลงทุนเลือกสินทรัพย์ที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในขณะนั้น ๆ เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการลงทุนได้ และเป็นการช่วยจำกัดประเภทสินทรัพย์เพื่อนำไปใช้ประกอบการเลือกกองทุนที่เหมาะสมได้ด้วย
3. ศึกษานโยบายของกองทุนจากหนังสือชี้ชวน
เมื่อนำความเสี่ยงที่นักลงทุนแต่ละคนรับได้กับการคาดคะเนสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นมาประกอบกัน จะทำให้เหลือกองทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนอยู่แค่จำนวนหนึ่ง ซึ่งนักลงทุนสามารถศึกษาเงื่อนไขการซื้อขาย สภาพคล่อง การจ่ายผลตอบแทน เพื่อให้เข้าใจโครงสร้าง เงื่อนไข และนโยบายการลุงทุนของแต่ละกองทุนอย่างคร่าว ๆ
4. ศึกษาผลงานในอดีต
เมื่อเลือกกองทุนได้จำนวนหนึ่งแล้ว นักลงทุนควรย้อนตรวจสอบผลงานย้อนหลัง ซึ่งควรเลือกกองที่ให้ผลตอบแทนดีมีความผันผวนต่ำ และกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
5. ติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
หากสภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอาจมีการสลับหน่วยลงทุนได้ในภายหลัง
ผลตอบแทนกองทุนเป็นอย่างไร
เมื่อซื้อหน่วยลงทุนเรียบร้อยแล้ว นักลงทุนหลายท่านอาจสงสัยว่าแล้วจะยังไงต่อไป? กำไรหรือขาดทุนคิดอย่างไร?
เนื่องจากกองทุนเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งซึ่งจำกัดการซื้อขาย แม้แต่กองทุนเปิด (Opened – End Fund) เองก็สามารถซื้อขายได้เพียงวันละ 1 ครั้งโดยคำนวนจากราคาสินทรัพย์เมื่อสิ้นวัน การทำกำไรหรือคาดหวังผลตอบแทนของการลงทุนในกองทุนจึงจำเป็นต้องอาศัยเวลาในการรอคอย
ระหว่างนั้นการวัดมูลค่าเงินลงทุนว่างอกเงยขึ้นหรือลดลงสามารถวัดได้จาก NAV (Net Asset Value) ที่จะมีการคำนวนจากราคาสินทรัพย์ที่กองทุนถืออยู่ ณ สิ้นวัน (Mark to Market) แล้วหักลบด้วยหนี้สินคงค้างและค่าใช้จ่ายของกองทุน ซึ่งหาก NAV มีค่าสูงกว่ามูลค่าหน่วยลงทุนที่นักลงทุนซื้อไว้ ส่วนต่างนั้นถือเป็นกำไร หรือหากมีค่าต่ำกว่ามูลค่าหน่วยลงทุนที่นักลงทุนซื้อไว้ ส่วนต่างนั้นก็คือผลขาดทุน ทั้งนี้ผลกำไรหรือขาดทุนนั้นจะยังไม่สิ้นสุดจนกว่าจะมีการสั่งขายหน่วยลงทุนอย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น ซึ่งส่วนต่างผลกำไรขาดทุนในการซื้อขายกองทุนเช่นนี้เรียกว่าผลตอบแทนจาก Capital Gain และเป็นผลตอบแทนปกติของทุกกองทุนที่เปิดซื้อขาย
นอกเหนือจากนั้นยังมีบางกองทุนที่มีการให้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผล (Dividend) ที่จะแบ่งจ่ายให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นงวด ๆ โดยที่นักลงทุนไม่จำเป็นต้องขายหน่วยลงทุนเพื่อ realized ผลกำไรหรือขาดทุน หากนักลงทุนต้องการทราบผลกำไรขาดทุนจากการถือหน่วยลงทุนก็ต้องพิจารณาผลตอบแทนทั้งสองส่วน (หากกองทุนให้ผลตอบแทนทั้งสองรูปแบบ)
สรุป
แน่นอนว่าไม่มีใครที่จะเชี่ยวชาญด้านการลงทุนตั้งแต่แรก ทุกคนล้วนมีข้อจำกัดของตัวเองทั้งนั้น ทว่าข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งเรื่องความรู้ประสบการณ์ การไม่มีเวลา รวมถึงข้อจำกัดเรื่องเงินทุนตั้งต้นจะไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป เมื่อกองทุนรวมกลายมาเป็นเครื่องมือหนึ่งในตลาดการเงินที่ช่วยอำนวยความสะดวกรวมถึงช่วยตอบสนองความต้องการที่หลากหลายให้กับนักลงทุน และเช่นที่กล่าวไว้แล้ว การไม่ลงทุนนับเป็นความเสี่ยงที่สุด ในเมื่อข้อจำกัดทุกอย่างมีเครื่องมืออย่าง กองทุนรวมเข้ามาช่วยเรียบร้อยแล้วก็อย่าปล่อยให้เงินทุนของตัวเองต้องเสื่อมค่าไปด้วยการปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ เมื่อการใช้กองทุนรวมเป็นเครื่องมือในการลงทุนไม่ใช่เรื่องยากและวุ่นวาย แต่ง่ายนิดเดียว ที่เหลือก็มีแค่การเริ่มลงมือเท่านั้น
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน