กองทุนรวมทองคำคืออะไรและเลือกยังไง
อีกหนึ่งสินทรัพย์ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนสูงในช่วงที่เงินเฟ้อพุ่งทะยานก็คงหนีไม่พ้นสินทรัพย์สุดคลาสสิคของนักลงทุนอย่าง “ทองคำ”
ทองคำได้ชื่อว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมาช้านาน คนทั่วไปยังใช้ทองคำเป็นตัวรักษามูลค่า (Store of Value) และวิธีที่ได้รับความนิยมสูงสุดวิธีหนึ่งสำหรับการลงทุนในทองคำก็คงหนีไม่พ้นการซื้อทองคำแท่งและการซื้อกองทุนรวมทองคำ ซึ่งวิธีแรกมักเป็นวิธีที่มีความตรงไปตรงมาและเราคุ้นเคยกันดี แต่สำหรับการซื้อกองทุนรวมทองคำนั้นมีรายละเอียดที่ผู้ลงทุนจะต้องใส่ใจเพิ่มขึ้นอีกนิด
และหากใครที่กำลังสนใจและสงสัยว่ากองทุนรวมทองคำคืออะไร เลือกยังไง มีกองทุนแบบไหนให้เลือกบ้าง คราวนี้เราได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจมาไว้ให้แล้ว
กองทุนรวมทองคำคืออะไร: ทำความรู้จักกองทุนรวมทองคำ
กองทุน คือ การระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อย เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นำไปลงทุนต่อตามนโยบายของกองทุนต่าง ๆ เช่น ลงทุนในดัชนี ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ลงทุนในน้ำมัน หรือลงทุนในทองคำ ดังนั้นกองทุนรวมทองคำก็คือกองทุนรวมที่รับเงินลงทุนจากนักลงทุนรายย่อยเพื่อไปลงทุนต่อในสินทรัพย์อย่างทองคำตามนโยบายของกองทุนที่กำหนดเอาไว้ตั้งแต่แรก
กองทุนรวมทองคำเป็น Passive Fund หรือกองทุนที่มีผลตอบแทนล้อตามราคาทองคำโลก ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดราคาสินทรัพย์ไว้ใช้อ้างอิง ซึ่งกองทุนรวมทองคำส่วนใหญ่จะใช้มาตรฐานราคากองทุน SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุน ETF ที่ใหญ่ที่สุดที่มีนโยบายลงทุนในทองคำแท่ง นอกจากนี้ก็ยังมีกองทุนที่เข้าไปลงทุนในทองคำแท่งโดยตรงอีกด้วย ทำให้ราคาของกองทุนทองคำมักจะขึ้นลงเปลี่ยนแปลงไปตามราคาทองโลก
มีวิธีเลือกกองทุนรวมทองคำอย่างไร
สำหรับกองทุนในประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วมีนโยบายคล้ายคลึงกันนั่นคือเน้นลงทุนในทองคำเป็นหลัก แต่มักมีรายละเอียดของการลงทุนไม่เหมือนกัน เช่น นโยบายการประกันความเสี่ยงค่าเงิน, นโยบายปันผล และสถานที่ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยน ซึ่งเหล่านี้บางปัจจัยก็ส่งผลต่อผลตอบแทนของกองทุนรวมทองคำโดยตรง ซึ่งนักลงทุนควรคำนึงถึงก่อนเลือกซื้อกองทุน
◆ นโยบายประกันความเสี่ยงค่าเงิน ◆
กองทุนรวมทองคำในประเทศไทย หากสังเกตให้ดีจะมีกองทุนบางส่วนที่มีผลการดำเนินงานที่ไม่ได้ล้อไปตามราคาทองคำโลกเนื่องจากมีนโยบายประกันความเสี่ยงค่าเงินแตกต่างกัน
การซื้อขายทองคำในตลาดโลกนั้นมีฐานอยู่บนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเปลี่ยนกลับมาเป็นมูลค่ากองทุนรวมที่เป็นเงินบาทก็จำเป็นต้องปรับมูลค่าตามอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เช่น หากเงินบาทอ่อน มูลค่ากองทุนรวมทองคำที่ปรับค่าเป็นเงินบาทจะมีราคาสูงขึ้น แต่หากเงินบาทแข็งค่า มูลค่ากองทุนรวมทองคำที่ปรับเป็นเงินบาทก็จะมีราคาต่ำลง ซึ่งความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนนี้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อกำไรของนักลงทุนนอกเหนือไปจากความผันผวนด้านราคา ดังนั้นนโยบายประกันความเสี่ยงจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนต้องคำนึงถึงก่อนเลือกซื้อกองทุน
หากนักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้สูง การเลือกกองทุนรวมทองคำที่ไม่ได้มีการประกันความเสี่ยงค่าเงิน (Unhedge) เอาไว้ก็จะเป็นทางเลือกที่ดี ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้กับการลงทุนได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาทองคำแพงขึ้นและค่าเงินบาทอ่อน จะทำให้ผลตอบแทนของกองทุนออกมาดีกว่าปกติ ในทางตรงกันข้ามหากราคาทองคำกำลังเป็นขาลง ขณะที่เงินบาทแข็งค่า นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนนี้ก็จะขาดทุนได้มากกว่าปกติเช่นกัน
เพื่อลดความเสี่ยงด้านความผันผวนของค่าเงิน นักลงทุนบางส่วนที่พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงก็นิยมเลือกกองทุนรวมทองคำที่มีการประกันความเสี่ยงค่าเงินเอาไว้ (Hedge) เพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่าจะได้ผลตอบแทนที่ล้อตามราคาทองคำโลกอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ด้วยนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมทองคำที่หลากหลาย นักลงทุนอาจเริ่มสงสัยว่าการลงทุนในกองทุนที่มี “การลงทุนในทองคำแท่งโดยตรง” มีความแตกต่างจาก “การลงทุนในกองทุนผ่าน SPDR Gold Trust” หรือไม่
จากข้อมูลย้อนหลังเปรียบเทียบของหลายกองทุนพบว่า ไม่ว่ากองทุนรวมทองคำจะลงทุนในทองคำแท่งโดยตรงหรือลงทุนผ่าน SPDR Gold Trust ก็ไม่ส่งผลให้เกิดความแตกต่างของผลการดำเนินงาน แต่ปัจจัยที่ทำให้ผลตอบแทนจากกองทุนแตกต่างกันออกไปนั้นคือนโยบายบริหารอัตราแลกเปลี่ยน โดยกองทุนที่ไม่มีการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Unhedge) จะให้ผลตอบแทนที่ดีเป็นพิเศษในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่า
◆ นโยบายปันผล ◆
หากสังเกตผลการดำเนินงานของกองทุนรวมทองคำบางกองแล้วพบว่าผลตอบแทนต่ำกว่ากองทุนอื่น ๆ แม้จะมีนโยบายประกันความเสี่ยงค่าเงินเหมือนกัน นั่นอาจเป็นเพราะนโยบายปันผลของกองทุนที่จะมีการทะยอยจ่ายกระแสเงินสดที่เป็นผลกำไรของกองทุนออกมา ซึ่งแน่นอนว่ากระแสเงินสดตัวนี้จะทำให้ผลตอบแทนในระยะยาวลดลง แต่นักลงทุนจะได้กระแสเงินสดในปัจจุบันแทน
◆ สถานที่ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยน ◆
คำถามที่อาจเป็นข้อสงสัยอีกประการคือ กองทุนรวมทองคำที่เลือกลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ นิวยอร์ค (TMBGOLD) และ สิงคโปร์ (TMBGOLDS) จะให้ผลการดำเนินงานแตกต่างกันหรือไม่
ซึ่งจากข้อมูลก็จะพบว่า ไม่มีความแตกต่างกัน การลงทุนในตลาดทั้งสองมีความแตกต่างในแง่ของสภาพคล่อง ที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์คจะมีสภาพคล่องสูงกว่า ส่วนตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์จะมีสภาพคล่องต่ำกว่า ทั้งนี้เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์คมีเวลาดำเนินงานที่แตกต่างจากเวลาในประเทศไทยมาก ทำให้การประกาศราคาช้ากว่าราคาที่ออกโดยตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนที่ซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์ครับรู้ราคาช้าไป 1 วัน (T+1)
ตัวอย่างกองทุนรวมทองคำที่น่าสนใจ
★ TMBGOLD ★
เป็นกองทุนรวมทองคำจากค่าย TMB ที่บริหารแบบ Passive Fund ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน SPDR Gold Trust (GLD) ซึ่งเป็นกองทุน ETF ที่มีนโยบายการลงทุนในทองคำแท่ง บริษัทมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ทั้งใน นิวยอร์ค ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ โดยจะมีการซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก กองทุนรวมทองคำนี้ไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Unhedge)
★ TMBGOLDS ★
เป็นอีกหนึ่งกองทุนรวมทองคำจากค่าย TMB ที่มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของ SPDR Gold Trust (GLD) คล้ายคลึงกับ TMBGOLD ต่างกันตรงที่กองทุนนี้มีการจัดตั้งและบริหารโดย World Gold Trust Services, LLC และทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสิงคโปร์ โดยที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Hedge) ตามดุลยพินิจของกองทุน
★ TGoldBullion-H ★
กองรวมทุนทองคำจากค่าย Thanachart Fund Eastspring กองนี้มีนโยบายลงทุนในทองคำแท่ง (Gold bullion) ในต่างประเทศโดยตรงเป็นหลัก โดยทองคำแท่งที่กองทุนไปทำการลงทุนต้องมีมาตรฐานในระดับสากลซึ่งมีมาตรฐานความบริสุทธิ์ของทองคำไม่ต่ำกว่า 99.5% และจะมีการลงทุนผ่านสกุลเงินดอลลาร์ และมีการใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเกือบทั้งหมด (Hedge) ไม่ต่ำกว่า 90% ดังนั้นจึงอาจยังมีราคาที่เปลี่ยนแปลงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อยู่บ้าง
★ TGoldBullion-UH ★
อีกหนึ่งกองทุนรวมทองคำจากค่าย Thanachart Fund Eastspring มีนโยบายลงทุนในทองคำแท่ง (Physical gold หรือ Gold bullion) ในต่างประเทศ โดยต้องเป็นทองคำที่ได้มาตรฐานสากลและลงทุนผ่านสกุลเงินดอลลาร์เช่นเดียวกัน แต่กองทุนนี้จะไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Unhedge) ทำให้มูลค่าของกองทุนไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามราคาทองคำในตลาดโลกแบบ 100%
★ SCBGOLD ★
เป็นกองทุนรวมทองคำจากบลจ. ไทยพาณิชย์ อ้างอิงราคาทองคำแท่งและอาจสร้งาผลตอบแทนทางอ้อมผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน SPDR Gold Trust ถูกบริหารจัดการโดย World Gold Trust Services, LLC โดยที่มีการซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ด้วยการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่มีการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Unhedge)
★ SCBGOLDH ★
อีกหนึ่งกองทุนรวมทองคำจากบลจ. ไทยพาณิชย์ที่มีนโยบายการลงทุนคล้ายคลึงกับ SCBGOLD แต่จะแตกต่างกันตรงที่กองทุนนี้มีนโยบายซื้อขายสัญญาล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedge) ไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุน
★ K-GOLD-A(A) ★
เป็นกองทุนรวมทองคำจากบลจ.กสิกรไทย ที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน SPDR Gold Trust และมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่ากองทุน และเป็นกองทุนที่ไม่มีการจ่ายปันผลตลอดระยะเวลาถือหน่วยลงทุน
★ K-GOLD-A(D) ★
เป็นกองทุนรวมจากค่ายกสิกรที่มีนโยบายการลงทุนคล้ายคลึงกับ K-GOLD-A(A) คือลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน SPDR Gold Trust และมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่ากองทุน แต่จะมีการปันผล โดยมีนโยบายปันผลไม่เกินปีละ 4 ครั้ง โดยจ่ายไม่เกิน 100% ของกำไรสะสมประจำงวดบัญชี
กองทุนรวมทองคำ vs สัญญาซื้อขายทองคำ
อ้างจากที่กล่าวไปในส่วนที่แล้วว่ากองทุนรวมทองคำคือการรวมเงินลงทุนของนักลงทุนรายย่อย เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนนำไปลงทุนในทองคำตามนโยบายของกองทุนต่อ ทำให้การลงทุนทองคำผ่านกองทุนรวมทองคำนั้นมีข้อดีในแง่ที่ผู้ลงทุนสามารถเลือกนโยบายกองทุนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลเงินทุนให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุน โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปซื้อทองคำแท่งมาเก็บไว้เอง หรือไปลงทุนในกองทุน SPDR Gold Trust ในต่างประเทศด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่า
อย่างไรก็ดี การลงทุนในทองคำผ่านกองทุนรวมทองคำนั้นยังมีข้อจำกัดตรงที่จำเป็นต้องเปิดบัญชีกองทุนรวมกับบลจ.ที่จะเลือกซื้อกองทุน นักลงทุนสามารถซื้อขายกองทุนได้เพียงวันละครั้ง ณ ราคา NAV. สิ้นวัน และมีค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการตามที่กองทุนระบุไว้ การลงทุนในกองทุนรวมทองคำจึงเป็นวิธีลงทุนที่เหมาะกับการลงทุนระยะกลางถึงยาวขึ้นไป และผู้ลงทุนไม่มีเวลาติดตามราคาทองคำมากนัก
แต่สำหรับนักลงทุนระยะสั้น โดยเฉพาะนักลงทุน day-trading ที่จำเป็นต้องฉวยจังหวะความผันผวนของราคาในวันเพื่อสร้างผลกำไร การใช้กลยุทธ์นี้จะไม่สามารถใช้กองทุนรวมทองคำเป็นเครื่องมือในการซื้อขายได้ จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมืออื่นที่มีความคล่องตัวสูงกว่า เอื้อต่อการส่งคำสั่งซื้อขายได้รวดเร็ว และมีราคาซื้อขายอ้างอิงราคาทองคำในตลาดโลกแบบเรียลไทม์ ซึ่งสัญญาซื้อขายทองคำ (CFD) เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย
ข้อมูลเพิ่มเติม เทรดทองคำเริ่มต้นยังไงดี วิธีการเทรดทองคำสำหรับมือใหม่ในปี 2566>>
สรุป
เหล่านี้คือข้อมูลที่ว่ากองทุนรวมทองคำคืออะไร เลือกยังไง ที่เราได้รวบรวมมาให้ ซึ่งการลงทุนในกองทุนรวมทองคำก็เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยม สะดวก และวางใจได้ว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลเงินทุนให้ แต่สำหรับนักเทรดที่มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น การใช้กองทุนรวมเป็นเครื่องมืออาจกลายเป็นข้อจำกัดโอกาสที่จะได้รับจากความผันผวนระหว่างวัน และ CFD ทองคำก็นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ไม่ยุ่งยาก และเปิดโอกาสในการทำกำไรได้ สูง
1.กองทุนทองคำมีความเสี่ยงหรือไม่?
2.FD กับ กองทุนรวมทองคำ แบบไหนดีกว่ากัน?
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน