CBDC คืออะไร
นอกจากคริปโทเคอเรนซีแล้ว CBDC คือนวัตกรรมใหม่ด้านการเงินที่ถูกจับตามองมากไม่แพ้กัน จากการที่ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ในโลกเริ่มกระโดดเข้าม าสร้างสกุลเงินดิจิทัลกันเสียเองอย่างที่เรารู้จักกันดีเช่นหยวนดิจิทัล (Yuan Digital) ที่เริ่มเปิดตัวในปี 2020 จนมาถึงโปรเจกต์ฮามิลตัน (Project Hamilton) ปี 2022 ที่สหรัฐเองก็เริ่มทดลองคิดค้นสกุลเงินดิจิทัลขึ้นมาใช้งานบ้างแล้ว แต่ CBDC คืออะไรกันแน่? และจากวันนั้นสู่วันนี้ CBDC ถูกพัฒนาไปถึงไหนกันแล้วบ้าง? คราวนี้เราจะมาอัปเดทเรื่องนี้ให้ฟังกัน
CBDC คืออะไร?
Central bank digital currencies หรือ CBDC คือ สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางซึ่งรวมถึง “เงิน” และ “ระบบ” ที่รองรับอยู่เบื้องหลัง เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ คือสามารถชำระราคาได้รวดเร็วและมีความแม่นยำตรวจสอบได้
CBDC ยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
CBDC สำหรับธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale CBDC)
เป็นระบบการเงินที่ออกแบบมาเพื่อการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงินให้มีความแม่นยำและรวดร็วขึ้น เช่น การหักบัญชีระหว่างธนาคาร การโอนเงินระหว่างประเทศของสถาบันการเงินต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยได้ทดลองใช้ไปแล้วกับโครงการอินทนนท์
CBDC สำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุุรกิจและประชาชน (retail CBDC)
เป็นการขยายวงมาใช้กับประชาชนรายย่อยให้นำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ และสามารถนำไปเชื่อมต่อกับบริการทางการเงินใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประเทศไทยกำลังทดลองใช้ในโครงการบางขุนพรหม
ความแตกต่าง CBDC vs Cryptocurrency vs PromptPay
CBDC ไม่ใช่เงินดิจิทัลเพียงชนิดเดียวที่ถูกนำมาใช้ในปัจจุบัน เพราะยังมีเงินดิจิทัลอีกหลายประเภท เช่น Cryptocurrency และ เงินดิจิทัล หรือ ProptPay ที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่เงินดิจิทัลทั้งสามประเภทก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่
CBDC vs. Cryptocurrency
ทั้ง CBDC และ Cryptocurrency ต่างก็เป็น “เงินดิจิทัล” เหมือนกัน และอาจใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเหมือนกันหรือไม่ก็ได้ แต่เงินทั้งสองก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่คือ
CBDC ถูกสร้างและควบคุมโดยธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ (Central Bank) ที่หมายรวมทั้ง “เงิน” และ “ระบบชำระเงินเบื้องหลัง” ซึ่งการเปลี่ยนแปลงค่าเงินจะถูกดูแลโดยธนาคารกลางที่มีระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ หนุนหลังอยู่ ทำให้ค่าเงินมักมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากและยากต่อการเก็งกำไรในระยะสั้น ยกเว้นว่ามีเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อค่าเงินให้เปลี่ยนแปลงไปได้มาก
Cryptocurrency ถูกสร้างและนำออกมาใช้โดยภาคเอกชน ซึ่งอาจเป็นแค่ “เหรียญ” หรือ “เงิน” ที่รวมหรือไม่รวม “ระบบชำระเงินเบื้องหลัง” ไว้ก็ได้ นอกจากนี้ Cryptocurrency มักไม่ได้ถูกดูแลหรือแทรกแซงมูลค่าโดยผู้สร้างหรือเจ้าของโปรเจกต์ แต่ปล่อยให้มูลค่าของเงินเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการซื้อขายเหรียญที่เกิดขึ้น ทำให้มูลค่าของเงินมีความผันผวนสูงและสามารถเก็งกำไรได้
CBDC vs. Digital Money หรือ PromptPay
ทั้ง CBDC และ Digital Money หรือ PromptPay มีความคล้ายกันในแง่ที่ว่ามีเงิน (Fiat Currency) เป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรมเหมือน ๆ กัน แต่เงินทั้งสองก็ยังมีความต่างกันในแง่ที่ว่า
CBDC เป็นเงินบาทในรูปดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นโดยธนาคารกลางแห่งประเทศไทย ที่หมายรวมทั้ง “เงิน” และ “ระบบชำระเงิน” เบื้องหลัง ซึ่งอาจใช้หรือไม่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนก็ได้ แต่หากนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ก็จะทำให้เงินดิจิทัล CBDC สามารถกำหนดเงื่อนไขการชำระเงิน (Programmable) และนำไปใช้ร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
Digital Money หรือ PromptPay เป็นเพียง “ระบบชำระเงิน” ที่สร้างโดยเอกชน ดำเนินการกับ “เงิน (Fiat Money)” ที่มีอยู่แล้วและถูกนำเข้าระบบ (ฝาก) ไว้กับสถาบันการเงิน การทำธุรกรรมกับเงินประเภทนี้จึงทำได้เพียงฝาก ถอน โอน แบบทั่วไปเท่านั้น
ที่มาและจุดมุ่งหมายของ CBDC คืออะไร?
CBDC เป็นการรุกเข้ามาของธนาคารกลางในตลาด “ระบบโครงสร้างพื้นฐานในการชำระเงิน” ที่เดิมมีเอกชน เช่น ธนาคารพานิชย์ หรือ สถาบันการเงินต่าง ๆ ดำเนินการอยู่แล้ว แต่เมื่อมีผู้ให้บริการหลายเจ้า การชำระบัญชีจึงมีความซับซ้อนและใช้เวลาในการตรวจสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำ Cross-border Payment
การเพิ่มขึ้นของการใช้งานเงินในรูปแบบดิจิทัลยังเพิ่มขึ้นจนทำให้จำนวนธุรกรรมเพิ่มขึ้นตามไปได้วย ทำให้ตัว “ระบบโครงสร้างพื้นฐานในการชำระเงิน” ยิ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นทั้งในด้านการทำธุรกรรมของรายใหญ่ (Wholesale) และรายย่อย (Retail) บวกรวมกับการเติบโตของ Cryptocurrency ที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินอื่น ๆ ตามมา ธนาคารกลางผู้เป็นคนดูแลสกุลเงิน (Fiat Currency) จึงต้องปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงโครงสร้างการชำระเงินให้รองรับการทำธุรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ธนาคารกลางต่าง ๆ จึงมีเป้าหมายในการพัฒนา CBDC เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ความแม่นยำ ความรวดเร็ว ความสะดวก และเพิ่มการเข้าถึงการใช้งานของคนให้มากขึ้นด้วยการ
ลดต้นทุนการทำธุรกรรมเดิมของโครงสร้างพื้นฐานในการชำระเงิน ซึ่งทำได้ด้วยการลดต้นทุนในการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน และลดต้นทุนการทำ cross-border ให้ง่ายและมีประสิทธิภาพ และเสนอทางเลือกในการทำธุรกรรมให้กับผู้ใช้งานเดิมด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
ลดความเสี่ยงของผู้ใช้เงินที่จะหันไปใช้บริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency ที่มีความผันผวนมากกว่า ด้วยการเสนอทางเลือกที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันด้วยความน่าเชื่อถือที่มากว่า
โปรเจกต์ CBDC ของธนาคารกลางทั่วโลกมีที่ไหนบ้าง?
สำหรับประเทศที่นำ CBDC ออกใช้งานแล้ว เช่น
จาไมก้า ที่เปิดตัว JAM-DEX ในช่วงกลางปี 2022 ซึ่งนับเป็น CBDC ตัวแรกที่นำมาใช้อย่างถูกกฎหมายและเป็นทางการ แต่ CBDC ตัวนี้ไม่ได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้
ไนจีเรีย นำ eNaira มาใช้ในช่วงปลายปี 2021
และยังมีประเทศอื่น ๆ เช่น บาฮามาส, โดมินิกา, เซนต์ ลูเซีย, ไนจีเรีย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีประเทศที่น่าจับตามองอย่างประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่กำลังเริ่มทดลองโปรเจกต์ CBDC กันอยู่ เช่น
จีน มีการนำ CBDC หรือ หยวนดิจิทัล มาทดลองใช้แล้วในกลางปี 2022 ด้วยมูลค่าเงินหมุนเวียน 83 พันล้านหยวน
อินเดีย ช่วงต้นปี 2022 ธนาคารกลางอินเดียได้ประกาศจะเปิดตัว Digial Rupee ในช่วงปลายปี 2023
สวีเดน Riksbank ที่เป็นธนาคารกลางของสวีเดนกำลังพัฒนา e-Krona หลังจากที่ความต้องการใช้เงินสดในประเทศลดลง
สหรัฐอเมริกา กำลังอยู่ในช่วงคิดค้นเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการชำระเงินในโปรเจกต์ Hamilton ที่เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางและ MIT
อังกฤษ กำลังอยู่ในช่วงการคิดค้นการนำ CBDC เข้ามาใช้ร่วมกับระบบการเงินเดิม
แคนาดา อยู่ในช่วงค้นคว้าการประยุกต์ใช้ CBDC เพื่อเสริมความสามารถของระบบการเงินเดิม
ไทย ได้มีการนำ CBDC มาใช้ในฝั่ง Wholesale CBDC แล้ว และกำลังอยู่ในช่วงทดลองแบบจำกัดวงสำหรับการนำ Retail CBDC มาใช้
นอกจากนี้ยังมีออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย บราซิล เปรู ชิลี สิงคโปร์ ฯลฯ ที่อยู่ในช่วงการวางแผนนำ CBDC มาใช้เช่นกัน
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ CBDC มีใครบ้างและต้องปรับตัวอย่างไร
การมาถึงของ CBDC จะกระทบต่อระบบการเงินเป็นวงกว้าง แต่ผู้ที่มีส่วนได้เสียที่จะได้รับผลกระทบหลัก ๆ จะได้แก่ ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเดิม ผู้ให้บริการด้านการชำระเงิน รวมถึงนักลงทุนที่ลงทุนอยู่ในสกุลเงินดิจิทัล ให้ต้องปรับตัวเตรียมพร้อมดังนี้
ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน
ควรปรับตัวให้มีทางเลือกของการใช้งานได้มากขึ้น บนการใช้งานที่เชื่อถือได้และรวดเร็ว
ธนาคารพานิชย์และผู้ให้บริการด้านการชำระเงิน
ควรประเมินทางเลือกในการเลือกใช้บริการโครงสร้งพื้นฐานทางการเงินที่ตอบโจทย์ตัวเองได้มากที่สุดบนต้นทุนที่ต่ำ
นักลงทุนที่อยู่ในตลาด cryptocurrency
ต้องประเมินผลกระทบที่ CBDC จะมีต่อความต้องการใช้สกุลเงิน cryptocurrency ที่ตนเองถือ ซึ่ง CBDC อาจทำให้ cryptocurrency บางตัวเสื่อมความต้องการไปได้
สรุป
Central bank digital currencies หรือ CBDC คืออนาคตของระบบการเงินที่กำลังจะมาถึงค่อนข้างแน่นอนแล้ว เพียงแต่ว่าจะมาถึงในรูปแบบไหนและช้าเร็วแค่ไหนเท่านั้น ซึ่งการมาถึงของ CBDC จะมีผลกระทบทั้งต่อผู้ให้บริการทางการเงิน รวมถึงผู้ใช้บริการทั้งฝั่งผู้ค้าและประชาชนรายย่อย รวมถึงนักลงทุนและผู้เล่นในตลาด cryptocurrency อย่างแน่นอน การรู้จักว่า CBDC คืออะไรจะช่วยให้เราประเมินความเสี่ยงและความเป็นไปได้สำหรับการปรับตัวในอนาคต
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน