การคาดการณ์แนวโน้มค่าเงินเยนปี 2024
แนวโน้มค่าเงินเยนเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนระดับโลกจับตามองอย ู่เสมอ ด้านหนึ่งค่าเงินเยนเป็นสกุลเงินที่มีปริมาณซื้อขายมากติด 1 ใน 5 ของตลาดปริวรรตเงินตรา เยนยังเป็นสกุลเงินที่ใช้ซื้อขายสินค้ากับญี่ปุ่นที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ทั้งยังมีฐานะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนทั่วโลกอีกด้วย แต่นโยบายและสภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็แตกต่างจากประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ทำให้การวิเคราะห์แนวโน้มค่าเงินเยนทำได้ไม่ง่าย คราวนี้เราจึงขอชวนทุกท่านทำความรู้จักกับค่าเงินเยนรวมถึงแนวโน้มค่าเงินเยนที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 กัน
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มค่าเงินเยน
ญี่ปุ่นเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีจีดีพีใหญ่เป็นลำดับ 4 ของโลกด้วยขนาด $4.231 ล้านล้า แต่ขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ของโลกเติบโตไปพร้อมกับเป้าหมายเงินเฟ้อแบบอ่อน ๆ ญี่ปุ่นกลับต้องเผชิญปัญหาเงินฝืดติดต่อกันมาเป็นเวลานานด้วยปัญหาเฉพาะตัว การวิเคราะห์เศรษฐกิจและแนวโน้มค่าเงินเยนจึงมีความแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ และนี่คือปัจจัยที่นักลงทุนควรคำนึงถึงเมื่อต้องการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มค่าเงินเยน
1. นโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น
ได้แก่ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการทางการเงินอื่น ๆ เช่น Yield Curve Control ถ้าอเมริกามีนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE – Quantitative Easing) ธนาคารกลางญี่ปุ่นเองก็มีมาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (YCC – Yield Curve Control) ที่เป็นการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเพื่อกดผลตอบแทนในระยะยาวให้อยู่ในกรอบที่กำหนดเพื่อกระตุ้นให้เงินเฟ้อถึงเป้าหมายที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหนทางในการส่งสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินและส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง
2. นโยบายการเงินของธนาคารกลางอื่นที่ส่งผลต่อค่าเงินเยน
เช่น นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้อัตราดอกเบี้ย(ผลตอบแทน)เปรียบเทียบเปลี่ยนแปลงไป หรือ การใช้มาตรการอื่น ๆ เช่นการทำ QT ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ในด้านกลับก็ทำให้เยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วได้
3. แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ
สามารถวัดอย่างง่ายได้ด้วยจีดีพี ซึ่งในด้านหนึ่งสามารถสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ด้วย หากจีดีพีขยายตัวจะหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและส่งผลให้สกุลเงินนั้น ๆ มีความต้องการใช้มากขึ้น ดังนั้นประเทศที่มีการเติบโตของจีดีพีมักมีค่าเงินที่แข็งค่าและมีเสถียรภาพ ในทางตรงกันข้ามประเทศที่อยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำมีจีดีพีติดลบมักมีการอ่อนค่าของสกุลเงินตามมา
4. ขนาดของดุลบัญชีเดินสะพัด (Trade Balance)
ดุลบัญชีเดินสะพัดคือดุลบัญชีที่แสดงการไหลเข้า-ไหลออกของเงินระหว่างประเทศ การมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลหมายถึงมีเงินเข้าประเทศมากกว่าเงินที่ไหลออก แสดงถึงความต้องการ (demand) ต่อสกุลเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งนำไปสู่การแข็งค่าของสกุลเงิน ในทางตรงกันข้ามดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลหมายถึงมีเงินไหลออกจากประเทศ แสดงถึงความต้องการ (Demand) ต่อสกุลเงินที่อ่อนแอ ซึ่งนำไปสู่การอ่อนค่าของสกุลเงิน
5. การคาดการณ์ความเสี่ยงในตลาดการเงินโลก
ด้านหนึ่งค่าเงินเยนยังมีฐานะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) เมื่อเกิดความเสี่ยงขึ้นในระบบการเงินโลก เช่น สงคราม วิกฤตเศรษฐกิจ ฯลฯ มีแนวโน้มที่ค่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นมากกว่าปกติได้
แนวโน้มค่าเงินเยนในปี 2023
ปี 2023 แนวโน้มค่าเงินเยนเป็นสิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกจับตาด้วยการทำสถิติอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 15 ปีที่ 151.905 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่จุดต่ำสุดของปีเกิดขึ้นในช่วงต้นปีที่ 127.219 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐนับเป็นการเปลี่ยนแปลงกว่า 19% ในปีเดียว เกิดอะไรขึ้นกับเงินสกุลนี้ในปี 2023 บ้างเรามาดูกัน
กลางปี 2021 ที่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจโลกเริ่มเห็นสัญญาณเงินเฟ้อเร่งตัว เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นที่เคยติดลบตลอดในช่วงเดือนธันวา 2022 ก็พลิกกลับมาบวก 4% เกินกว่ากรอบเป้าหมาย 2% ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นตั้งไว้ ในช่วงนั้นนายฮารุกิ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารญี่ปุ่นได้แถลงต่อสื่อมวลชนกับการขยายกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีจาก 0.25% เป็น 0.5% ซึ่งเป็นสัญญาณแรกของการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายการเงินของญี่ปุ่น ส่งผลให้แนวโน้มค่าเงินเยนแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีมาอยู่ที่ 131.76 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็เป็นไปในช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะแม้จะมีการขยายกรอบการทำ YCC แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้เพิ่มวงเงินในการทำ YCC จาก 7.3 ล้านล้านเยนต่อเดือน เป็น 9 ล้านล้านเยน และยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.1%
ในปี 2023 ท่ามกลางการขึ้นดอกเบี้ยของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 5.33 คิดเป็น +23% YTD, ธนาคารกลางยุโรปขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 4.00 คิดเป็น +50%YTD ขณะที่ญี่ปุ่นยังตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ -0.1% ตลอดทั้งปี และมีการเข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตรรัฐบาลเป็นระยะ แสดงถึงความไม่ยั่งยืนของมาตรการ YCC แนวโน้มค่าเงินเยนตลอดปี 2023 จึงแกว่งตัวในแนวโน้มอ่อนค่า
ปลายเดือนตุลาคม 2023 ที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะผ่อนคลายการใช้ YCC ได้หลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อนับจากต้นปีแกว่งตัวในกรอบ 3 – 4.5% ซึ่งเกินกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ 2% แต่ธนาคารญี่ปุ่นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตรการ YCC ที่ดำเนินอยู่ และไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 15 ปีที่ 151.905 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ และแกว่งในกรอบ 145 – 152 มาตลอด
แนวโน้มค่าเงินเยนในปี 2024
จากบทวิเคราะห์ของ Morgan Stanley พบว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2024 มีแนวโน้มเติบโตแบบชะลอตัวลง และความท้าทายที่ธนาคารกลางทั่วโลกต้องเผชิญคือการบาลานซ์ระหว่าง เงินเฟ้อ และ การชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าเงินเฟ้อที่ทะยานสูงในปี 2023 ที่ผ่านมาจะเริ่มปรับลดลงได้ในปี 2025 และคาดว่าจีดีพีของญี่ปุ่นจะเติบโตได้ 1% ในปี 2024 และ 1.1% ในปี 2025 เช่นเดียวกับ Goldman Sachs ที่มองการเติบโตของญี่ปุ่นที่ 1% และยังมองแนวโน้มค่าเงินเยนในปีหน้าไว้ที่ 150
ปัจจัยที่ต้องจับตามองสำหรับแนวโน้มค่าเงินเยนในปี 2024
1. การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐ
ซึ่งมีผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบ โดยเฉพาะเมื่อนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในกลางปีหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณการอ่อนค่าของดอลลาร์และแข็งค่าของเยน
2. การกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะลดความกดดันในการดำเนินนโยบายผ่อนคลาย YCC ของธนาคารญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออัตราเงินเฟ้อเริ่มกลับมาปรับสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และการผ่อนคลายมาตรการ YCC จะส่งผลอต่อแนวโน้มค่าเงินเยนในทางแข็งค่าขึ้น
3. การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ
จากอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศที่ปรับสูงขึ้นส่งผลให้คนญี่ปุ่นซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีเงินทุนไหลออกราว $175 พันล้าน ซึ่งการเคลื่อนย้ายเงินทุนเหล่านี้กลับจะมีผลต่อแนวโน้มค่าเงินเยนเช่นกัน
ด้านการคาดการณ์แนวโน้มค่าเงินเยนด้วยปัจจัยทางเทคนิคระดับสัปดาห์จะพบว่าค่าเงินเยนปรับตัวในกรอบบนของ Bollinger band มาตลอดทั้งปี 2023 แสดงถึงแนวโน้มอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง โดยทำจุดสูงสุดไว้บริเวณ 150 สองครั้งแต่ยังไม่สามารถทะลุผ่านขึ้นไปได้ และล่าสุดเริ่มปรับลงมาทดสอบเส้นค่าเฉลี่ย 20 สัปดาห์ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการเลือกทาง หากราคาหลุดลงมาแกว่งตัวในกรอบล่างของ Bollinger Band จะให้มุมที่ไม่ดีและมีแนวโน้มที่จะกลับตัวเป็นขาลง (แข็งค่า) ได้ แต่หากสามารถทะลุผ่าน 150 ขึ้นไปได้จะทำจุดสูงสุดใหม่ได้ในระยะยาว
สรุป
แนวโน้มค่าเงินเยนเป็นปัจจัยที่นักลงทุนในตลาดโลกมองข้ามไม่ได้ เนื่องจากเป็นสกุลเงินหลักที่เชื่อมความสัมพันธ์ถึงสินทรัพย์อื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะดอลลาร์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร และภาพรวมตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยเฉพาะเมื่อปี 2024 อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นและเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของค่าเงินเยน จนกลายมาเป็นโอกาสสำคัญครั้งหนึ่งของนักเทรดและนักลงทุนได้
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน