EMA คืออะไร?อินดิเคเตอร์ที่นักเทรดต้องรู้
นักเทรดที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเทรดมานานมักพบว่า EMA เป็นอินดิเคเตอร์ที่มีประโยชน์มาก จนขนาดที่นำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างอินดิเคเตอร์ตัวอื่น ๆ เช่น MACD หรือ PPO อีกด้วย แต่สำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่า EMA คืออะไร มีที่ไปที่มาอย่างไร และสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเทรดได้อย่างไร คราวนี้เรามีบทความดี ๆ ที่จะเล่าถึงเรื่องนี้มาฝากกัน
EMA คืออะไร?
EMA Exponential Moving Average หรือ เส้นค่าเฉลี่ยราคาแบบถ่วงน้ำหนัก คือ อินดิเคเตอร์ทางเทคนิคในกลุ่มค่าเฉลี่ยที่มีการพัฒนาให้เพิ่มความแม่นยำมากขึ้นด้วยการถ่วงน้ำหนักที่จะให้ความสำคัญกับข้อมูลล่าสุดมากกว่าข้อมูลที่ผ่านมาก่อนหน้า ทำให้ค่าเฉลี่ยราคาจากเส้น EMA ทำให้เส้นค่าเฉลี่ย EMA สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของราคาล่าสุดได้เร็วขึ้นและถูกนำมาใช้บ่งชี้สัญญาณได้เร็วขึ้น
แนวคิดตั้งต้นของ EMA ไม่ต่างกับแนวคิดการใช้เส้นค่าเฉลี่ย MA อื่น ๆ นั่นคือ:
เมื่อแนวโน้มราคากำลังอยู่ในขาขึ้น ราคาจะเคลื่อนที่อยู่บนเส้นราคาเฉลี่ยที่เกิดขึ้นย้อนหลัง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้เล่นในตลาดยอมซื้อขายสินทรัพย์นี้ที่ราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อราคาปรับเข้ามาใกล้ค่าเฉลี่ยก็จะถูกมองว่าราคาเริ่มถูก (เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยที่เกิดขึ้นย้อนหลัง) จึงพร้อมเข้าซื้อ ในอีกทางหนึ่งเส้นค่าเฉลี่ยนี้จึงสามารถมองเป็นแนวรับได้
เมื่อแนวโน้มราคากำลังอยู่ในขาลง การเคลื่อนไหวของราคาที่เกิดขึ้นควรน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่เกิดขึ้นย้อนหลัง (ราคาวิ่งอยู่ใต้เส้น MA) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้เล่นในตลาดยอมซื้อขายสินทรัพย์นี้ที่ราคาที่ถูกลงเรื่อย ๆ และเมื่อราคาปรับเข้ามาใกล้ค่าเฉลี่ยก็จะถูกมองว่าราคาเริ่มแพง (เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยที่เคยเกิดขึ้นย้อนหลัง) จึงพร้อมที่จะขาย ในอีกทางหนึ่งเส้นค่าเฉลี่ยนี้จึงสามารถมองเป็นแนวต้านได้
EMA ยังขึ้นชื่อว่าเป็น Lagging Indicator ที่บ่งชี้สัญญาณได้ช้า ทำให้นักเทรดมักนำอินดิเคเตอร์ตัวนี้ไปประกอบใช้กับอินดิเคเตอร์จำพวก Leading Indicator อื่น ๆ เช่น RSI เพื่อเป็นการช่วยยืนยันสัญญาณซื้อขายที่จะช่วยให้ระบบเทรดมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
วิธีการคำนวณ EMA
การคำนวณ EMA ทำได้ด้วยการใช้สูตรถ่วงน้ำหนักแบบ Exponential ดังนี้
EMAn = [ ราคาปิดปัจจุบัน x ตัวคูณ] + [EMA วันก่อนหน้า x (1 – ค่าถ่วงน้ำหนัก(Alpha))]
โดยที่
ค่าถ่วงน้ำหนัก(Alpha) = 2/ [ ช่วงเวลา (N) +1 ]
ตัวอย่างการคำนวณ EMA (7) ของ USD/EUR
การคำนวณ EMA ย้อนหลัง วันจะได้ค่า N = 7 และจะได้ค่าถ่วงน้ำหนัก(alpha) = 2/ (7+1) = 0.25
จะเห็นได้ว่าจากค่า EMA(7) ที่คำนวณได้จะค่อนข้างมีความสมูธและมีการกระจายตัว (เหวี่ยงตัว) ของราคาไม่มากเท่าราคาปิดจริง ๆ ของสินทรัพย์ ในทางหนึ่ง EMA จึงทำให้นักเทรดสามารถมองเห็นแนวโน้มการเคลื่อนตัวของราคาได้ชัดเจนกว่าการมองเพียงกราฟราคาอย่างเดียว
ยิ่ง EMA ใช้ค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาที่นานมากขึ้นเท่าไหร่ ( N มากขึ้น) เส้น EMA ที่คำนวณได้จะมีค่าสมูธมากยิ่งขึ้น และเปลี่ยนแปลงตามราคาปิดในวันล่าสุดน้อยกว่า ทำให้นักเทรดสามารถใช้ EMA ในระยะต่าง ๆ ช่วยบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มเพื่อยืนยันหรือหาสัญญาณขัดแย้งของแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น
EMA vs. SMA ค่าเฉลี่ยทั้งสองต่างกันอย่างไร?
EMA และ SMA ต่างก็เป็นอินดิเคเตอร์ในกลุ่มเส้นค่าเฉลี่ย หรือ Moving Agerage เหมือนกัน แต่อินดิเคเตอร์ทั้งสองนั้นมีเทคนิคในการเฉลี่ยแตกต่างกัน
EMA - Exponential Moving Average เป็นการหาค่าเฉลี่ยด้วยการถ่วงน้ำหนักแบบ Exponential โดยจะมีการให้น้ำหนักกับค่าล่าสุดมากกว่าค่าที่เกิดขึ้นมานานแล้ว
SMA – Simple Moving Average เป็นการหาค่าเฉลี่ยแบบทั่วไป คือการนำค่าทั้งหมดมาหารด้วยจำนวนตัวอย่างทั้งหมด (N) ทำให้ทุกค่าที่นำมาหาค่าเฉลี่ยนั้นมีน้ำหนักในการหาค่าเฉลี่ยเท่า ๆ กัน
จากเทคนิคที่แตกต่างกันในการนำมาหาค่าเฉลี่ยของอินดิเคเตอร์ทั้งสองชนิด ที่ EMA จะมีการถ่วงน้ำหนักให้เปลี่ยนแปลงตามค่าล่าสุดได้มากกว่าเทคนิคการหาค่าเฉลี่ยของ SMA ดังนั้นหากราฟราคาปิดที่นำมาหาค่าเฉลี่ยนั้นมีความผันผวนสูง ค่า EMA ที่ได้ออกมาก็จะมีความผันผวนได้มากกว่า และเราจะเห็นได้ว่าโดยทั่วไป SMA จะมีความสมูธของเส้นค่าเฉลี่ยได้มากกว่า EMA นั่นเอง、
ตัวอย่างการคำนวณ EMA vs. SMA
หากยังเห็นภาพความแตกต่างของอินดิเคเตอร์ทั้งสองตัวได้ไม่ชัดพอ คราวนี้เราลองมาดูความแตกต่างของค่า EMA(7) และ SMA(7) ว่าเมื่อคำนวณออกมาแล้วจะได้ความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
จากข้อมูลที่คำนวณได้จะพบว่าจากราคาปิดของ USD/EUR เมื่อนำมาคำนวณในระยะเวลา (N) เดียวกัน หากราคาปัจจุบันมีการกระชากตัวหรือผันผวนรุนแรง SMA ที่ได้จะมีเส้นที่ค่อนข้างสมูธและเปลี่ยนแปลงช้า ขณะที่ค่า EMA จะสะท้อนความเปลี่ยนแปลงนั้นได้มากกว่าและให้ค่าที่ใกล้เคียงกับราคาปัจจุบันมากเนื่องจากมีการเพิ่มเทคนิคการถ่วงน้ำหนักเข้าไป
ด้วยเหตุนี้ EMA จึงเป็น Moving Average ชนิดที่ส่งสัญญาณได้รวดเร็วและสะท้อนราคาปัจจุบันได้ SMA นั่นเอง
EMA ใช้ยังไง ตัวอย่างการใช้งานจริง
EMA มักถูกนำมาใช้ประกอบการเทรดสินทรัพย์ในจังหวะที่ราคามีแนวโน้มชัดเจนเป็นหลัก นั่นคือ หากไม่เป็นแนวโน้มราคาขาขึ้น ก็ควเป็นแนวโน้มราคาขาลง นอกจากนี้ EMA ยังสามารถนำมาใช้ในการระบุการเปลี่ยนเทรนราคาได้อีกด้วย ดังนั้นโดยหลัก ๆ แล้วเราใช้ EMA ใน 3 ด้าน คือ
1. ใช้ระบุแนวโน้ม
จากคอนเซปต์เบื้องต้นของอินดิเคเตอร์ตัวนี้ที่มองการดำเนินไปของราคาในปัจจุบันเทียบกับค่าเฉลี่ย ทำให้ EMA ถูกนำมาใช้ในการระบุแนวโน้ม
ราคาที่กำลังดำเนินไปเคลื่อนตัวอยู่เหนือเส้น EMA แสดงว่าแรงซื้อที่เกิดขึ้นมีมากกว่าค่าเฉลี่ยที่เคยเกิดขึ้น และอนุมานได้ว่าแนวโน้มที่เกิดขึ้นเป็นแนวโน้มขาขึ้น และควรใช้กลยุทธ์การเทรดแบบแนวโน้มขาขึ้น
หากราคากำลังเคลื่อนตัวอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยจะหมายความว่ามีแรงขายกดดันราคาให้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่เคยเกิดขึ้น ทำให้มองว่าแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นเป็นแนวโน้มขาลง และควรใช้กลยุทธ์การเทรดแบบแนวโน้มขาลง
นอกจากนี้การใช้ EMA เพื่อระบุแนวโน้มยังมีรายละเอียดในด้าน Timeframe และ การเลือกระยะเวลาที่นำมาคำนวณ (N) การใช้ Timeframe ในระยะสั้นที่ต่ำกว่าวัน (Intraday) จะสามารถบ่งบอกสัญญาณได้รวดเร็วขึ้นและสามารถใช้ประกอบการเทรดระยะสั้นได้
อย่างไรก็ดี EMA ยังสามารถใช้กับการลงทุนในระยะกลางถึงยาวด้วยการใช้ Timeframe ในระดับวันแล้วปรับเปลี่ยนช่วงเวลาในการเฉลี่ยค่า (N) แทน ซึ่งการใช้ N = 5 จะหมายถึงค่าเฉลี่ยของราคาที่เทรดกันในรอบสัปดาห์และถูกมองเป็นกรอบการซื้อขายระยะสั้น, หากใช้ N = 25 จะอนุมานได้ถึงค่าเฉลี่ยที่เกิดขึ้นในรอบเดือน ซึ่งเป็นการลงทุนในระยะกลาง และ N = 200 อาจมองเป็นค่าเฉลี่ยของราคาที่เทรดกันมาในระดับปี และเป็นอินดิเคเตอร์บ่งบอกแนวโน้มที่กำลังดำเนินไปในระยะยาว
2. ใช้เป็นแนวรับแนวต้าน
จากแนวคิดที่ EMA ถูกนำมาใช้ในการระบุแนวโน้ม และการเปลี่ยนแนวโน้มจะไม่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด ทำให้เมื่อราคากำลังเคลื่อนตัวอยู่บนเทรนที่แข็งแรงก็จะไม่มีการวิ่งตัดเส้น EMA จนเปลี่ยนแนวโน้มไปอย่างฉับพลันแต่จะราคาดีดตัวกลับไปในแนวโน้มเดิม EMA จึงถูกนำมาใช้เป็นแนวรับแนวต้านอย่างง่ายสำหรับผู้เริ่มต้น
การใช้ EMA เป็นแนวรับ จะใช้เมื่อแนวโน้มที่ดำเนินอยู่เป็นแนวโน้มขาขึ้นที่ราคาเคลื่อนอยู่เหนือ EMA เมื่อราคาตกกลับมาใกล้ EMA จะมีแนวโน้มที่จะวิ่งกลับขึ้นไปตามแนวโน้มเดิม
การใช้ EMA เป็นแนวต้านจะใช้เมื่อแนวโน้มที่ดำเนินอยู่เป็นแนวโน้มขาลงที่ราคาเคลื่อนอยู่ใต้ EMA เมื่อราคารีบาวน์ขึ้นมาใกล้ EMA จะมีแนวโน้มที่จะโดนแรงขายกดดันให้ราคาตกกลับไปตามแนวโน้มเดิม
3. ใช้ประกอบกับอินดิเคเตอร์อื่น ๆ และตัวอย่างการใช้งานในการเทรด Forex จริง ๆ
ถึงตรงนี้เราคงได้รู้กันไปแล้วว่า EMA คืออะไร และมีวิธีใช้เบื้องต้นอย่างไร คราวนี้เราจะมาลงลึกและประยุกต์ใช้เครื่องมือตัวนี้ให้ตอบโจทย์การเทรดให้แม่นยำยิ่งขึ้น
1) การใช้ EMA หลายค่าเพื่อช่วยยืนยันแนวโน้ม การใช้ EMA หลายเส้นที่ใช้ค่า N ที่แตกต่างกันเพื่อช่วยยืนยันแนวโน้มและหาจุดเข้าซื้อถือเป็นการประยุกต์ใช้ EMA ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย โดยที่ค่า N ที่เลือกมาจะสะท้อนภาพแนวโน้มราคาที่เกิดขึ้นในระยะต่าง ๆ เช่น N = 25 เป็นแนวโน้มระยะสั้น, N = 75 คือแนวโน้มระยะกลาง และ N = 75 เป็นแนวโน้มระยะยาวเป็นต้น
Golden Cross ที่เป็นสัญญาณซื้อและตัวบ่งชี้ว่าแนวโน้มกำลังเปลี่ยนเป็นขาขึ้นจะเกิดเมื่อ EMA ทั้งสามเส้นเริ่มเรียงตัวจากน้อยไปมากจากบนลงล่าง อันเป็นการยืนยันแนวโน้มขาขึ้นทั้งระยะสั้นกลางและยาว
Dead Cross ที่เป็นสัญญาณขายและตัวบ่งชี้ว่าแนวโน้มกำลังเปลี่ยนเป็นขาลงจะเกิดเมื่อ EMA ทั้งสามเส้นเริ่มเรียงตัวจากมากไปน้อยและจากบนลงล่าง อันเป็นการยืนยันแนวโน้มขาลงทั้งระยะสั้นกลางและยาว
2) การใช้ EMA เพื่อหาจุดเข้าซื้อขณะ RSI เกิดสัญญาณ Divergence การเกิด RSI Divergence เป็นสัญญาณขัดแย้งที่แนวโน้มราคาที่กำลังเกิดขึ้นไม่ถูกยืนยันด้วยความแข็งแรงของ Momentum ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวโน้ม แต่ RSI ทำได้เพียงการบอกสภาวะแบบคร่าว ๆ และ RSI Divergence สามารดำเนินไปได้นาน การนำ EMA สองเส้นที่แสดงถึงแนวโน้มราคาใน 2 ระยะมาใช้เพื่อเป็นตัวยืนยันจุดซื้อขายจึงเป็นอีกวิธีที่นักเทรดสามารถนำมาใช้ได้
เมื่อเกิด RSI Bearish Divergence แสดงว่าแนวโน้มขาขึ้นมีโอกาสที่จะเปลี่ยนกลับเป็นขาลงแต่ยังไม่สามารถยืนยันการลงได้ ต้องรอจังหวะที่ EMA(5) และ EMA(75) ส่งสัญญาณ Dead Croos ยืนยันก่อนจึงค่อยทำการขาย
เมื่อเกิด RSI Bullish Divergence แสดงว่าแนวโน้มขาลงมีโอกาสที่จะเปลี่ยนกลับเป็นขาขึ้นแต่ยังไม่สามารถยืนยันการขึ้นได้ ต้องรอจังหวะที่ EMA(5) และ EMA(75) ส่งสัญญาณ Golden Cross ยืนยันก่อนจึงค่อยทำการซื้อ
ข้อจำกัดในการใช้ EMA
EMA เป็นอินดิเคเตอร์ในกลุ่มค่าเฉลี่ย Moving Average (MA) ที่ได้ชื่อว่าเป็น Lagging Indicator ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ส่งสัญญาณได้ช้า ทำให้เมื่อมีการส่งสัญญาณแล้วอาจช้าเกินไปสำหรับการเข้าซื้อหรือขาย ทำให้เสียจังหวะดี ๆ ในการซื้อขายไปอย่างน่าเสียดาย การใช้ EMA อย่างเดียวจึงไม่เหมาะกับการนำไปใช้ประกอบการเทรดเปล่า ๆ แต่ควรมีเครื่องมือยืนยันหลาย ๆ ตัวเพื่อให้ส่งสัญญาณได้แม่นยำยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ EMA ยังเป็นเครื่องมือที่มีไว้ใช้จับสัญญาณซื้อขายสินทรัพย์ในลักษณะที่ราคามีแนวโน้มเป็นหลัก และยิ่งใช้ได้ดีเมื่อมีแนวโน้มที่แข็งแรง แต่จะไม่สามารถใช้ได้เลยหากสินทรัพย์ตัวนั้น ๆ มีการเคลื่อนไหวในกรอบหรือ Sideway ที่จะทำให้เกิดสัญญาณที่ผิดพลาดได้อย่างง่ายดาย
ตั้งค่า EMA กับแพลตฟอร์มการเทรด Mitrade ยังไง
การตั้งค่า EMA บน Mitrade ทำได้ง่ายดาย ด้วยการล็อกอินเพื่อพบหน้าแสดงกราฟราคา แล้วเลือกเพิ่ม Indicator เพื่อเปิด Slide Menu จากนั้นเลือก Moving Average Exponential ก็จะได้เส้น EMA เพิ่มเข้ามาในกราฟราคา
การปรับแต่งค่า EMA ทำได้ด้วยการกดเพื่อเปิด Pop Up Menu จะมีให้เลือกระหว่างการปรับแต่งค่า (Input) หรือ รูปแบบ (Style) ที่ผู้ใช้สามารถปรับแต่งค่าตามความต้องการได้เพียงไม่กี่คลิกเท่านั้น
สรุป
และทั้งหมดนี้ก็คือการตอบคำถามที่ว่า EMA คืออะไร แตกต่างอย่างไรกับ SMA และนักเทรดจะสามารถนำอินดิเคเตอร์ตัวนี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างระบบเทรดที่แม่นยำได้อย่างไรบ้าง ซึ่งแม้บทความนี้จะเป็นความรู้ที่อัดแน่นแต่ก็ยังต้องอาศัยการสังเกตและฝึกฝนประสบการณ์ เพื่อให้สามารถนำไปใช้เทรดจริง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทความที่คุณอาจจะสนใจด้วย |
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน