ฟินเทค(Fintech)คืออะไร? ตัวแปรสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจทางการเงินของไทยในอนาคต
เมื่อหลายปีก่อน เราคงเคยได้ยินคำว่า Fintech หรือ ฟินเทค กันอยู่บ่อยครั้ง แต่เคยสงสัยกันไหมว่า คำว่า Fintech ฟินเทค คืออะไร เป็นแอพพลิเคชั่น หรือ เป็นโปนแกรมอะไรหรือเปล่า ทำไมทุกวันนี้คนถึงพูดถึงคำนี้บ่อยจัง ในประเทศไทยเรามีการใช้ Fintech ด้วยหรือไม่ วันนี้ทางเราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักแบบละเอียดกับ Fintech ฟินเทค เทคโนโลยีทางการเงิน พร้อมตัวอย่าง ธุรกิจทางการเงิน Startup Fintech ในไทยที่ประสบความสำเร็จ ติดตามรายละเอียดได้บทความนี้เลย
Fintech คื ออะไร การใช้งาน ฟินเทค เทคโนโลยีทางการเงิน ในไทย มีข้อดี - ข้อเสียอะไรบ้าง
Fintech คือกลุ่มธุรกิจที่นำคำว่า Financial และ Technology มาประยุกต์ใช้จึงกลายเป็น คำว่า "Financial Technology"
เทคโนโลยีทางการเงิน เป็นการนำเทคโนโลยีมาผสมกับการเงิน เพื่อให้การทำธุรกิจหรือทำธุรกรรมทางการเงินเป็นเรื่องง่ายขึ้น เข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็น การฝากเงิน – ถอนเงิน การโอนเงินข้ามประเทศ การลงทุน การแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ทุกอย่างสามารถทำได้ง่ายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ทั้งประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าธรรมเนียมอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ทำให้คนเราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น
หากยกตัวอย่างนิยามของคำว่า ฟินเทค ให้เห็นภาพชัดขึ้น ก็คือ การโอนเงิน ในปัจจุบันนี้ เราไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทางไปธนาคารให้ยุ่งยากเหมือนเมื่อก่อน เพียงแค่เราทำการ Scan QR Code เงินก็เข้าไปยังบัญชีปลายทางสำเร็จ สำหรับระบบ ฟินเทค ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่เกิดขึ้นมานานแล้วและมีการพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น การกดเงินผ่าน ATM การชำระสินค้าต่างๆ ผ่าน Credit Card ก็คือนิยามของคำว่า Fintech เช่นกัน
Fintech มีกี่ประเภท?
จากตัวอย่างที่พูดถึงนั้นหลายคนคงเริ่มเข้าใจในคำว่า ฟินเทค มากขึ้น แต่ทุกคนทราบไหมว่า การใช้งานของเทคโนโลยีทางการเงิน ไม่ได้มีการใช้งานเพียงเท่านี้ แต่ยังมีรูปแบบการใช้งานในรูปแบบอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมเช่นกัน ซึ่ง Fintech สามารถแบ่งประเภทออกมาได้ 7 ประเภท โดยจะแบ่งตามวัตถุประสงค์การใช้งานของแต่ละประเภท โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. Banking Technology
คือ เป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับระบบธนาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานทุกคนทุกอาชีพ สามารถทำการธุรกรรมการเงินทุกรูปแบบได้ง่ายๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปกรอกเอกสารที่ธนาคารให้ยุ่งยากเหมือนเมื่อก่อน ปัจจุบันนี้ประเทศไทยเราก็นิยมชำระสินค้าผ่าน QR Code, ชำระค่าบริการสาธารณูปโภคผ่าน Mobile Banking หรือทำการโอนเงินต่างธนาคารก็ไม่มีค่าธรรมเนียมเหมือนเมื่อก่อน จะเห็นได้ว่าประหยัดทั้งเงิน ประหยัดทั้งเวลาอย่างเห็นได้ชัด
2. Crowdfunding
คือ การระดุมทุนจากบุคคลทั่วไป ทีละเล็กละน้อยผ่านแพลตฟอร์มตัวกลาง โดยนักลงุทนให้กู้ยืมอาจจะได้รับผลตอบแทนออกมาในรูปแบบของการปันผล หรือ การจ่ายดอกเบี้ย หรือในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวโครงการนั้นๆ โดยระบบ Crowdfunding ถูกจัดสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางอย่าง (SMEs)หรือธุรกิจ Startup ที่เพิ่งเปิด สามารถเข้าถึงเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องผ่านธนาคารแต่อย่างใด
3. Cryptocurrency
คือ สกุลเงินดิจิทัล ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาธนาคารโดยตรง ตามวัตถุประสงค์ Decentralization ทำธุรกรรมทางการเงินด้วยระบบบล็อคเชน โดยที่ไม่ต้องผ่านธนาคารหรือคนกลางแต่อย่างใด ซึ่งเป็น ฟินเทค อีกหนึ่งประเภทที่ได้รับกระแสตอบรับดีเป็นอย่างมากในปัจจุบันนี้ เพราะเราสามารถทำธุรกรรมได้จริง ไม่ว่าจะเป็นชำระสินค้าด้วยเหรียญคริปโท ตลอดจนถึงทำการกู้ยืม และเกร็งกำไรได้จริง สำหรับ Cryptocurrency นั้นถือว่าเป็นเทคโนโลยีทางการเงินที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก
4. Payment Technology
คือ ระบบการจ่ายเงินด้วยระบบเทคโนโลยี พูดง่ายๆ คือการชำระสินค้าหรือค่าบริการต่างๆ โดยไม่ต้องใช้เงินสด อาจจะทำการจ่ายด้วยระบบ QR CODE ซึ่งผู้ใช้งานจะต้องทำการลงทะเบียนหรือเปิดบัญชีกับแพลตฟอร์ม E- wallet ตัวอย่างเช่น True money wallet ที่ประเทศไทยเรานิยมใช้กัน สำหรับ Payment Tech จะต่างจาก Banking ก็คือ ธนาคารไม่ใช่เจ้าของแพลตฟอร์มโดยตรง
5. Enterprise Financial Software
คือ ระบบการทำบัญชีด้วยเทคโนโลยี สร้างขึ้นมาช่วยผู้ประกอบการ นักธุรกิจทุกคน ให้ทำบัญชีได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การทำงบการเงิน การออกใบเสร็จ ใบเสนอราคา ตลอดจนถึงระบบการจ่ายเงินเดือนพนักงาน ตัวอย่างการใช้งานของ Enterprise Financial Software ที่ได้รับความนิยมในไทย ก็คือ Flow account โปรแกรมบัญชี
6. Investment Management
คือ การจัดการลงทุนด้วยระบบเทคโนโลยี ทุกวันนี้ไม่เราจะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอะไรอะไร เราสามารถทำการลงได้ง่ายๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการลงทุน ตัวอย่างเช่นแอพ Streaming แอพพลิเคชั่นสำหรับการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย และ Bitkub แอพพลิเคชั่นสำหรับการซื้อขาย Cryptocurrency เป็นต้น
7. Insurance Technology
คือ การทำประกันภัยด้วยระบบดิจิทัล ทุกวันนี้เราสามารถทำการซื้อประกันภัยได้ง่ายๆผ่านระบบออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารให้ยุ่งยากเหมือนแต่ก่อน สำหรับ Insurance Tech สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อและผู้ขายประกันเป็นอย่างมาก เพราะระบบทำการคำนวณค่าเบี้ยประกัน ผลตอบแทน และวิเคราะห์ความเสี่ยงให้อย่างละเอียด ทำให้ระบบการจัดการซื้อขายทำได้ง่ายขึ้น
การใช้งาน ฟินเทค เทคโนโลยีทางการเงิน ในประเทศไทย มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง
ประเภทของฟินเทค ทั้ง 7 ประเภทที่กล่าวมานั้น ประเทศไทยของเราเกิดการใช้งานจริงทุกระบบ เริ่มตั้งแต่ยุคสมัยการใช้บัตร ATM และ Credit Card ที่ใช้ในการชำระสินค้าและการทำธุรกรรมในด้านอื่นๆ จนในปัจจุบันเราได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการชำระเงินด้วยระบบดิจิทัลมากกว่าการใช้เงินสดอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าเทคโนโลยีทางการเงินจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานก็จริง แต่ก็เปรียบเสมือนดาบสองคมเช่นกัน ซึ่งในบทความนี้ เราจะพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับ ข้อดีและข้อเสียของนวัตกรรมทางการเงิน ที่เราอยู่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มีอะไรบ้าง
ข้อดีของ Fintech (ฟินเทค เทคโนโลยีทางการเงิน) คือ ในเรื่องของการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องของค่าธรรมเนียม ในลำดับต่อมากจะเป็นในเรื่องของการประหยัดทรัพยากร ประหยัดเวลา ผู้คนทำงานได้ง่ายขึ้น นักลงทุนสามารถเข้าถึงตลาดทุนได้ง่าย ทั้งนี้ยังเข้ามามีบทบาทผลักให้กลุ่มธุรกิจ (SMEs) และ ธุรกิจ Startup หรือธุรกิจออนไลน์ในรูปแบบอื่นๆ เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตลอดจนถึงการลงทุนในตลาดเงินไม่ว่าจะเป็นกลุ่มดัชนีหุ้น กองทุนรวม และ Cryptocurrency ก็สามารถทำการซื้อขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ทันที
ข้อเสียของ Fintech (ฟินเทค เทคโนโลยีทางการเงิน) คือ ความมั่นคงตลาดเงิน ด้วยระบบเทคโนโลยีทางการเงิน ที่เข้ามาเปิดเสรีให้ทุกคนสามารถทำการกู้ยืมได้ง่าย ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ เช่น สภาวะอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ความไม่ปลอดภัยในเรื่องของข้อมูลส่วนตัวอาจจะมีการ hack บัญชีเกิดขึ้นนั่นเอง
ฟินเทค เทคโนโลยีทางการเงิน เหมาะกับใครบ้าง
ด้วยรูปแบบการพัฒนา เทคโนโลยีทางการเงิน เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์เรามากยิ่งขึ้นนั้น หลายคนเองก็เกิดคำถามว่า ระบบ Fintech กับใครมากที่สุด คำตอบคือ เหมาะสำหรับทุกคนและทุกกลุ่มอาชีพ ได้แก่
1. บุคคลทั่วไป
ประชากรหรือผู้บริโภคทั่วไปอย่างเราๆ ที่สามารถเข้าถึงบริการได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ผ่านคนกลาง ไม่ว่าจะเป็นชำระสินค้า การรับโอน การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดเงินทุกรูปแบบ ตลอดจนถึงทำการขอสินเชื่อได้ด้วยตัวเอง
2. ธนาคารหรือสถาบันการเงิน
เราอาจจะคิดว่าระบบ Fintech สร้างขึ้นมาเพื่อที่จะล้มธนาคารหรือเปล่า เพราะทำให้ธนาคารเกิดการยุบสาขาลง แต่แท้จริงแล้วนั้น เทคโนโลยีทางการเงิน เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบธนาคารไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และการเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายๆ ผ่าน Mobile Banking ทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลธุรกรรมของลูกค้าได้ง่ายขึ้น อีกด้วย
3. ผู้ให้บริการ E-Commerce
ด้วยปัจจุบันนี้มีการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตอบโจทย์ช่องทางการรับชำระเงินได้หลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นระบบ Mobile Banking หรือ รับชำระผ่าน E-wallet อย่างเช่น True money wallet ที่ประเทศไทยเรานิยมใช้กันนั่น สามารถเช็คยอดเงินได้ง่ายๆผ่านมือถือ
4. กลุ่มนักลงทุน
ทุกวันนี้เราสามารถเปิดบัญชีเพื่อการลงทุนได้ด้วยตังเองผ่านระบบออนไลน์ และสามารถเลือกลงทุนในกลุ่มผลิตภัณฑ์เราสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน ในตลาดหลักทรัพย์ ลงทุนในกองทุนรวม Cryptocurrency กลุ่มตลาดลงทุนในต่างประเทศ เราก็สามารถทำการซื้อ-ขายลงทุนได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งนี้ยังสามาถทำการลงทุนในกลุ่ม Crowding fund ได้อีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นอีกแนวทางที่ขยายโอกาสให้นักลงทุนมองหาเส้นทางการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆได้ด้วยตัวเอง
5. กลุ่มผู้ประกอบการทุกขนาด
ฟินเทค สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ประกอบการทุกระดับอย่างแท้จริง เห็นได้จากการใช้งานของ ฟินเทคประเภท Enterprise Financial Software ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เข้ามาจัดการระบบบัญชีให้เป็นเรื่องง่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใบกำกับภาษี ใบเสนอราคา ใบสต็อคสินค้า ตลอดจนถึงการจัดการระบบการจ่ายเงินเดือนให้พนักงานบริษัท โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เอกสารให้สิ้นเปลืองกระดาษอีกต่อไป
เทคโนโลยีทางการเงิน มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากแค่ไหน
ปัจจุบันนี้ทั้งในภาครัฐและเอกชนในเมืองไทย ต่างให้ความสนใจใน Fintech เทคโนโลยีทางการเงิน เป็นอย่างมากอย่างที่เราเห็นกันอยู่ กล่าวคือ ภาครัฐเองก็มีการปรับตัวให้กับยุคสมัย ตัวอย่าง แพลตฟอร์มของภาครัฐที่ใช้ฟินเทค ก็คือ แอพเป๋าตัง ที่สร้างขึ้นมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ประชาชนเกิดใช้จ่ายมากขึ้นนั่นเอง ในส่วนของภาคเอกชนก็มีการนำฟินเทคมาใช้ในการดำเนินธุรกิจตามที่เราได้ยกตัวอย่างไปก่อนหน้านี้นั่นเอง จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีทางการเงิน มีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิตเราเป็นอย่างมากในปัจจุบันนี้
ตัวอย่าง ธุรกิจทางการเงิน Startup Fintech ในไทยที่ประสบความสำเร็จ
ด้วยบทบาทของฟินเทค เทคโนโลยีทางการเงิน ที่เข้ามาควบคุมการลงทุนรูปแบบ และเป็นจุดกำเนิดให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างน่าสนใจ ซึ่งในประเด็นนี้ เราจะพูดถึง ตัวอย่าง ธุรกิจทางการเงิน Startup Fintech ในไทยที่ประสบความสำเร็จ เป็นกลุ่มบริษัทแนวหน้าของเมืองไทยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบันนี้ ได้แก่
1. Bitkub
นาทีไม่มีใครไม่รู้จักบริษัทนี้อย่างแน่นอน สำหรับ Bitkub จัดอยู่ในฟินเทค ประเภท Investment Management และ Cryptocurrency ภาพรวมของกิจการมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นบริษัท Startup ที่สร้างแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการซื้อ - ขายสกุลดิจิทัล อาทิ BTC, ETH และเหรียญอื่นๆอีกมากมาย จนกลายเป็นกระดานเทรดสกุลเงินดิจิทัลอันดับหนึ่งของเมืองไทยในตอนนี้
2. Finnomena
จัดอยู่ในฟินเทค ประเภท Investment Management เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่จัดการเกี่ยวกับการลงทุนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ การลงทุนในกลุ่มกองทุนรวม ทั้งยังช่วยแนะนำแนวทางการวางแผนเกี่ยวกับเรื่องการเงินในอนาคตอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นช่วยประเมินความเสี่ยงให้เราว่าเหมาะแก่การลงทุนกองทุนรวมประเภทไหน
3. Flow Account
จัดอยู่ในฟินเทค Enterprise Financial Software โปรแกรมบัญชีออนไลน์ อันดับต้นๆของเมืองไทยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ใช้งานง่ายเหมาะสำหรับทุกคนที่มีกิจการทุกขนาด หรือคนที่ต้องการจัดการระบบบัญชีด้วยตัวเอง ซึ่งตัวโปรแกรมจะมีตัวอย่างของแบบฟอร์มเอกสารทางบัญชีไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ใช้งานสะดวก แม้ว่าจะไม่เคยมีความรู้เรืองบัญชีก็สามารถทำได้
จะเห็นว่าธุรกิจเหล่านี้ สร้างผลตอบแทนให้ผู้ประกอบการเป็นจำนวนมหาศาล อุตสาหกรรมทางการเงิน ก็ยังตัวเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ในอนาคต ฟินเทค อาจจะไม่ได้มีระบบการทำงานเพียงเท่านี้ อาจจะมีการขยายการทำงานไปตามกลาเวลาและตามยุคสมัย แม้ว่า ณ ตอนนี้เราจะเห็นว่า ระบบฟินเทค ค่อนข้างน่าสนใจและยกระดับธุรกิจให้มีความทันสมัยมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม นวัตกรรมทางฟินเทค ยังถือว่าเป็นดาบสองคมอยู่เสมอ
ฟินเทค แนวโน้มการเติบโต ในประเทศไทย ในอนาคตจะเป็นอย่างไร?
ถ้าถามว่าในอนาคต นวัตกรรมทางการเงิน ฟินเทค Fintech ในไทยจะเป็นอย่างไร จะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดหรือไม่ ส่วนตัวผู้เขียนมองการเติบโตอย่างเร็วรวดในไทย ยังคงเป็นไปได้ยากด้วยข้อจำกัดในหลายอย่าง ที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตระบบฟินเทคในไทย ตัวอย่างของข้อจำกัดสามารถแยกออกมาทีละประเด็นได้ดังนี้
● อุปสรรคข้อกฎหมายไทย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา ๑๑๐๒ และมาตรา ๑๒๒๙ ทั้งนี้กฎหมายไทยยังไม่มีกฎหมายของการออก VISA ให้สำหรับนายทุนต่างชาติ เนื่องจากว่า การสร้างธุรกิจเกี่ยวกับฟินเทคจะได้ความช่วยเหลือในเรื่องทักษะความรู้และเงินทุน จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเป็นต้น
● อุปสรรคในเรื่องของการลงทุน แม้ว่าเราจะเห็นธุรกิจในรูปแบบของฟินเทคประสบความสำเร็จอย่างก้าวกระโดดก็จริง แต่แท้จริงนั้นไทยเรานั้นยังประสบปัญหาในเรื่องของเงินทุน ต้องเข้าใจก่อนว่าธุรกิจในเชิงฟินเทคมีความเสี่ยงสูงมากในระยะแรก จำเป็นที่จะต้องมีสำรองสูงในการลงทุน แต่เนื่องจากธนาคารและสถาบันการเงินในประเทศไทยของเราไม่นิยมปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ ส่งผลให้สตาร์ทอัพไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนได้นั่นเอง
● อุปสรรคในเรื่องอื่นๆ คือ อุปสรรคในของความรู้เฉพาะทางและทรัพยากรมนุษย์ในการทำงาน ตามที่เรากล่าวไปในประเด็นแรกก็คือ การสร้างธุรกิจสตาร์อัพเกี่ยวกับฟินเทค จะต้องอาศัยทักษะแบบเฉพาะทางนั่นเอง แม้ว่าบทบาทของ ฟินเทค จะกลายเป็นส่วนนึงของการดำเนินชีวิตประจำวันแล้วก็ตาม แต่อย่าลืมว่ายังมีประชากรบางกลุ่ม ที่ยังไม่มีสามารถเข้าถึงระบบการใช้งานการจ่ายด้วยระบบดิจิทัล เนื่องจากขาดความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้งานนั่นเอง
จากประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ได้แปลว่า ฟินเทค Fintech เทคโนโลยีการเงิน ในเมืองไทย จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย หรืออาจจะเติบโตอย่างช้าๆ
สำหรับมุมมองผู้เขียนมองว่าอาจจะมีเปลี่ยนแปลงตามสากลโลกในช่วงเวลานั้นๆ อาจจะไม่ได้ขั้นเติบโตแบบก้าวกระโดดเท่าที่ควรสักเท่าไหร่ด้วยหลายๆปัจจัย อุปสรรคในแต่ละข้อก็จำเป็นที่จะต้องใช้เวลาแก้ปัญหาพอควร รัฐบาลหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องยอมรับที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้เชียวชาญที่มีความรู้เฉพาะด้าน และกลุ่ม Digital Nomads สามารถเข้ามาร่วมดำเนินธุรกิจกับคนไทยได้ ออกกฎหมายรองรับ เพราะจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้สตาร์ทอัพในไทยมีความสามารถในการขยายตลาดออกไปสู่ต่างประเทศได้ อีกทั้งยังเป็นประตูเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยก็จะสร้างรายได้ให้กับประเทศได้มากขึ้นนั่นเอง
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน